

สรุปข่าว
เมื่อหลายวันก่อน ผมได้รับเชิญจาก อสมท. ให้ไปอัดเทปรายการใหม่ “มองจีนหลากมุม” ที่ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.30 น. ในหัวข้อเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” ของจีน และพูดคุยกันในหลายประเด็นย่อย หลังออกอากาศไปไม่นาน ก็มี FC ของผมติดต่อมาพูดคุยสอบถามเพิ่มเติม ผมเลยขอหยิบยกเอาเรื่องนี้มาขยายผลกันครับ ...
ในประเด็นแรก ผมถูกคุณวัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น พิธีกรสาวมากความสามารถซักถามเกี่ยวกับ “สถานการณ์ด้านอาหารของจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”
ต่อประเด็นดังกล่าว ผมขอเรียนว่า สถานการณ์ด้านอาหารของจีนในอดีตมีภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย หากมองย้อนกลับไปในช่วง เหมา เจ๋อตง ท่านผู้นำยุคแรก จีนประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารค่อนข้างรุนแรง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ว่าง่ายๆ ก็คือ จีนอยู่ในช่วง “ไม่พอมี ไม่พอกิน” ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องคนจีน ส่งผลให้ในช่วงที่จีนปิดประเทศ บางปีคนจีนต้องอดอาหารตายปีละเป็นล้านคนก็มี
ขณะเดียวกัน คุณภาพของผลผลิตและกรรมวิธีการขัดสีข้าวก็ไม่ดี มีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ฟันของคนสูงอายุของจีนบิ่นหักก็เพราะข้าวที่มีเศษหินปะปนเข้ามา
คนจีนในยุคนั้นจึงแทบไม่มีโอกาสบริโภคอาหารที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม จากคำบอกเล่าระบุว่า การได้รับจัดสรรเนื้อหมู ไก่ และเนื้อสัตว์อื่นเกิดขึ้นเฉพาะในโอกาสสำคัญ เช่น เทศกาลตรุษจีน
ภายหลังจีนเปิดประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิง ท่านผู้นำในยุคต่อมา ก็ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเกษตรครั้งใหญ่จาก “เกษตรนารวม” เป็น “เกษตรนาแยก” เพื่อหวังกระตุ้นให้ผลิตภาพทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น การดำเนินนโยบายได้ผลดีเกินคาด
ที่ดินถูกจัดสรรให้แก่เกษตรกรแต่ละคน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เพื่อการทำเกษตร และให้สามารถถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับ “ทายาท” เท่านั้น
การดำเนินนโยบายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลดี ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในเชิงปริมาณทุเลาลงโดยลำดับ และกลายเป็นพื้นฐานการพัฒนาด้านการเกษตรที่ดีของจีนในหลายสิบปีต่อมา
ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหารในเชิงคุณภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ อาทิ การเพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และอื่นๆ ในระดับที่สูง รวมทั้งขั้นตอนการเพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม
การเติบใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในช่วง 3 ทศวรรษแรกของการเปิดประเทศที่มองข้ามผลข้างเคียงหลายด้านอย่างคาดไม่ถึง ปัจจัยเชิงลบสำหรับการทำเกษตรกรรมดังกล่าวผสมโรงเข้ากับงานหบัก (ไม่มีเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรที่เหมาะสม) และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ทำให้เกษตรกรจีนจำนวนมากละทิ้งถิ่นฐานไปหาอาชีพใหม่ในเมือง
เรากำลังพูดถึงการสูญเสียเกษตรกรจำนวนเกือบ 300 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าวที่โยกย้ายไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและไหลต่อไปยังภาคบริการในเวลาต่อมา
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหลายปีหลัง เพราะการทำเกษตรแบบดั้งเดิมทำให้มีสารพิษตกค้างในดิน น้ำ และระบบนิเวศน์ ซึ่งสะท้อนถึง “ความไม่ยั่งยืน” ทั้งในส่วนของเกษตรกร ผลผลิต และพื้นที่ชนบท
ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพต่ำ ยิ่งผสมรวมกับกรรมวิธีการผลิตที่ขาดระบบการควบคุมที่ดี ก็ทำให้อาหารที่ได้มี “ความปลอดภัยต่ำ” ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นในคุณภาพ
ในตอนนั้น จีนพยายามแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารด้วยการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่สินค้าอาหารที่จีนผลิตได้ก็มีภาพลักษณ์ไม่ดี ทำให้ยากต่อการแข่งขันและการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
จากปัญหาที่รุมเร้าในหลายด้าน จีนจึงเดินหน้าหลายนโยบายและมาตรการในการพลิกฟื้นสถานการณ์ ลองคิดดูว่าปัจจุบัน จีนมีประชากรคิดเป็นราว 18% ของจำนวนประชากรโลก แต่มีพื้นที่และแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกไม่ถึง 9% ของพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่า จีนมีที่ดินและน้ำไม่ถึง 10% แต่เลี้ยงคนเกือบ 20% ของโลก
นี่ถือเป็นแรงกดดันอย่างมาก เพราะสินค้าเกษตรแต่ละประเภทต้อง “แย่งชิง” พื้นที่การเพาะปลูกระหว่างกัน ลำพังข้าวอย่างเดียวก็ใช้พื้นที่การเพาะปลูกถึง 25% ของพื้นที่การเพาะปลูกของจีนโดยรวมแล้ว และยังมีข้าวโพดและข้าวสาลีที่ใช้พื้นที่การเพาะปลูกอีก
ขณะเดียวกัน ภาคเศรษฐกิจจีนยังต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เติบใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
แต่ในเมื่อ “เรื่องกิน” ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลให้ความสำคัญยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการบรรจุเรื่องการเกษตรและพื้นที่ชนบทเป็นเอกสารหมายเลข 1 ของเอกสารการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อป้องกันมิให้วิกฤติอาหาร (Food Crisis) กลับมาเกิดขึ้นอีก จีนจึงมุ่งหน้ายกระดับการพึ่งพาตนเองมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกำหนดนโยบาย “3Ss” อันได้แก่ นโยบายความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และในระยะหลังยังขยายไปครอบคลุมถึงความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Sustainability)
ในเชิงปริมาณ จีนพยายามรักษาพื้นที่การเพาะปลูก โดยกำหนด “เส้นสีแดง” ที่ 1,800 ล้านหมู่ในปัจจุบัน (1 ไร่จีน = 0.42 ไร่ไทย)
ขณะเดียวกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในภาคการเกษตร และความสามารถในการผลิตที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการก่อตัวของ “ระบบนอมินี” ในช่วงหลายปีหลัง จีนก็เดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตรครี้งใหญ่ โดยปลดล็อกเงื่อนไขการถ่ายโอนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตร ที่จำกัดไว้ตับแต่ให้กับ “ทายาท” ไปสู่บุคคลอื่นได้
สิ่งนี้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบพื้นที่การเพาะปลูกขนานใหญ่จาก “เกษตรแปลงเล็ก” ไปสู่ “เกษตรแปลงใหญ่” และนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือทางการเกษตรมาใช้ในมากขึ้น ซึ่งทำให้ผลิตภาพทางการเกษตรของจีนเพิ่มขึ้น
คุยต่อตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -