

สรุปข่าว
- ประเทศเยอรมนีถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่ให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยประเทศเยอรมนีได้มีการออกกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการควบคุมมลพิษจากไอเสียรถยนต์ โดยตั้งแต่ปี 2008 ทุกเมืองใหญ่ของประเทศเยอรมนีได้มีการกำหนดโซนสิ่งแวดล้อมขึ้น ซึ่งในโซนนี้จะมีการออกข้อบังคับพิเศษที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีได้กำหนดให้มีโซนสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ใจกลางนครเบอร์ลิน (มีเนื้อที่ประมาณ 88 ตร.กม.) ในโซนสิ่งแวดล้อมนี้ยานพาหนะที่จะวิ่งเข้ามาได้นั้น ต้องเป็นยานพาหนะที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพไอเสียของรถยนต์และได้รับสติกเกอร์สิ่งแวดล้อมสีเขียวเท่านั้น โดยถ้ายานพาหนะที่ไม่มีสติกเกอร์สีเขียวขับเข้ามาในโซนสิ่งแวดล้อมนั้นอาจจะต้องเสียค่าปรับถึง 100 ยูโร หรือประมาณ 3,600 บาท
- นอกจากการควบคุมมลพิษจากไอเสียรถยนต์แล้ว ในกรุงเบอร์ลินยังมีกฏหมายคุ้มครองต้นไม้ที่เข้มงวดมาก เช่น การตัดแต่งต้นไม้ที่มีขนาดเส้นรอบวงตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไปต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐก่อน ถึงแม้ว่าจะเป็นต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่บ้านส่วนตัว หรือการสร้างรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ต้องไม่ทำให้รากไม้ของต้นไม้นั้นเสียหาย รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนต้นไม้ที่เข้าข่ายการคุ้มครองก็จะได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน ใครผ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 ยูโร หรือประมาณ 1,800,000 บาท เลยทีเดียว
- กรุงเบอร์ลินได้เริ่มดำเนินการด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ในด้านการใช้บังคับกฎหมายนั้น กรุงเบอร์ลินได้ออกกฎหมายว่าด้วย การปกป้องสภาพภูมิอากาศมากมายหลายฉบับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอาคาร เนื่องจากเป็นแหล่งการปล่อย GHG ที่สำคัญ ในขณะที่ภาคการขนส่งมีอัตราการปล่อย GHG ที่ต่ำกว่า เนื่องจากระบบคมนาคมขนส่งของกรุงเบอร์ลินเน้นการใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก
- กรุงเบอร์ลิน ให้ความสำคัญในด้านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่นการจัดตั้งกลุ่มอาคารสาธารณะในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อดำเนินการปรับปรุงอาคาร ให้ประหยัดพลังงานด้วยวิธีการต่างๆ โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนการปรับปรุงอาคารให้ส่วนหนึ่ง และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงไปจะถูกนำมาจ่ายคืนให้กับรัฐ ทั้งนี้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ติดตั้งใหม่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานเจ้าของอาคาร โดยมีผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้กับโครงการตลอดอายุสัญญาโครงการ นอกจากนี้ ยังมีการทำสัญญาความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่จะช่วยลดการใช้พลังงานและลดมลภาวะให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐ โดยหน่วยงานภาครัฐจะรับผิดชอบในการจัดทำข้อเสนอแนะทางเทคนิคและวิธีการลดการใช้พลังงานให้แก่บริษัทต่าง ๆและประมาณการเงินลงทุน ในขณะที่บริษัทจะรับไปดำเนินการและรายงานผลการใช้พลังงานเป็นระยะๆ
- อีกหนึ่งตัวอย่างของมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อมก็คือการจัดการกับขยะ การแยกขยะให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญในการรีไซเคิล โดยกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเมืองหลวงและมีประชากรกว่า 3.7 ล้านคนอาศัยอยู่ เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับการแยกขยะเป็นอย่างมาก โดยพื้นฐานแล้วคนเยอรมันนั้นถูกปลูกฝังให้มีการแยกขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ในโรงเรียน การทิ้งขยะไม่ถูกที่หรือการแยกขยะไม่ถูกต้องนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีค่าปรับค่อนข้างสูง เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ หรือ คายหมากฝรั่งไม่ถูกที่อาจจะมีโทษปรับถึง 120 ยูโรหรือประมาณ 4,300 บาท และถ้าเป็นการทิ้งขยะที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่แยกให้ถูกต้อง ค่าปรับก็จะเพิ่มเป็น 800 ยูโร หรือประมาณ 29,000 บาท เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : -