ซีรีส์เกาหลีสมัยนี้ทำไมถึงเหลือแค่ 8 หรือ 12 ตอน?

หากใครเป็นแฟนคลับซีรีส์เกาหลีเราคงคุ้นชินกับการดูซีรีส์ที่มีความยาว 16 ตอนจบ  เหมือนเป็นสูตรมาตรฐานที่แทบทุกเรื่องต้องทำตาม โดยเฉพาะซีรีส์ที่ฉายอยู่ตามทีวีที่กำหนดช่วงเวลาออกอากาศและเชื่อมโยงกับโฆษณา  แต่เมื่อไม่นานมานี้พฤติกรรมการรับชมของผู้ชมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเมื่อยุคของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง อย่าง Netflix, Disney+, TVING และแพลตฟอร์ม OTT อื่น ๆ เข้ามาแทนที่ สิ่งที่เคยเป็นมาตรฐานก็เริ่มสั่นคลอน

การมาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งไม่เพียงแค่เปลี่ยน "วิธีดู" แต่ยังเปลี่ยน "วิธีเล่าเรื่อง" อีกด้วย เพราะผู้ชมยุคใหม่ต้องการเนื้อหาที่กระชับ เร็ว และดูจบในระยะเวลาสั้น ๆ  เทรนด์ "ซีรีส์สั้น" ที่มีความยาวเพียง 6, 8 หรือ 12 ตอนจึงเริ่มกลายเป็นกระแสหลัก และได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งผู้ชมและผู้ผลิต

 



ซีรีส์เกาหลีสมัยนี้ทำไมถึงเหลือแค่ 8 หรือ 12 ตอน?

สรุปข่าว

ซีรีส์เกาหลียุคใหม่หันมาใช้รูปแบบสั้นลง 6–12 ตอน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรม “ดูรวดเดียวจบ” ของผู้ชมยุคสตรีมมิ่ง

A Business Proposal

ภาพจาก : SBS

หลายซีรีส์ยอดนิยม เช่น A Business Proposal (12 ตอน), Squid Game (9 ตอน), My Name (8 ตอน), และ Kingdom (6 ตอน) ซีรีส์เหล่านี้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของกระแสและรูปแบบการเล่าเรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความยาวของตอนไม่ใช่ตัวแปรสำคัญอีกต่อไปหากเนื้อหาดีดำเนินเรื่องเร็ว  

ผู้ชมยุคใหม่เบื่อหน่ายกับฉากที่ยืดเยื้อ หรือการยัดโฆษณาที่ไม่จำเป็น จึงรู้สึกถึงความพอดีถ้าซีรีส์จะเล่าเรื่องจบใน 6–12 ตอน ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการดูแบบ "Binge-watch" ที่กลายเป็นกิจกรรมสุดฮิตในวันหยุด

 แม้การลดจำนวนตอนจะดีต่อผู้ชมและบางค่ายผู้ผลิต แต่สำหรับสถานีโทรทัศน์แบบดั้งเดิม การทำซีรีส์สั้นกลับกลายเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องผลิตซีรีส์มากขึ้นในแต่ละปีเพื่อเติมช่องช่วงเวลาออกอากาศ และยังต้องเจอกับข้อจำกัดเรื่องสัญญาโฆษณา ที่ส่วนใหญ่อิงกับ “16 ตอน” ทำให้โฆษณา ต้องอัดแน่นในตอนที่น้อยลง ซึ่งอาจกระทบทั้งเรื่องจังหวะการเล่าเรื่องและรายได้

Hyper Knife

ภาพจาก : DisneyPlus

แต่อย่างไรก็ตามก็มีหลายคนที่เห็นว่าซีรีส์จำนวนตอนสั้นนั้นอาจไม่เป็นที่ถูกใจเท่าไหร่   เพราะต้องการใช้เวลากับตัวละครได้นานขึ้น  ผู้สร้างจึงต้องพิจารณาประเภทเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายในการกำหนดจำนวนตอนที่เหมาะสมด้วย 

นอกจากนี้ การทำซีรีส์สั้นไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป หากดำเนินเรื่องและสรุปเรื่องราวแบบตัดจบเกินไปก็อาจทำให้คนดูงุนงงแทนที่จะจบแบบตราตรึงได้


ปัจจุบันนี้อีกเทรนด์ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเกาหลีคือการทำซีรีส์หลายซีซั่น โดยเฉพาะในแนวแอ็กชัน ระทึกขวัญ และแฟนตาซีที่สามารถต่อยอดเรื่องราวได้ การทำเป็นหลายซีซั่นเช่นนี้เป็นกลยุทธ์ที่สตรีมมิ่งสนับสนุนเพื่อดึงผู้ชมให้อยู่กับแพลตฟอร์มนานขึ้น สำหรับผู้สร้างเองก็ถือเป็นโอกาสลดความเสี่ยงเช่นกัน เพราะสามารถแบ่งเล่าเรื่องเป็นช่วงๆ หากซีซั่นแรกกระแสดีจึงค่อยเดินหน้าสร้างซีซั่นถัดไปได้  

ซึ่งการสร้างแบบนี้ก็ได้กลายเป็นสูตรใหม่ของซีรีส์ที่มีให้เห็นมากขึ้นในปัจจุบัน

ที่มาข้อมูล : Allkpop,heraldcorp,Preview.ph

ที่มารูปภาพ : SBS, Netflix