ไขมันพอกตับ! หมอเตือน เมนูยอดฮิต กินทุกเช้า เสี่ยงป่วยไม่รู้ตัว

หมอเจด เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เรื่อง มนูฮิต กินทุกเช้าเสี่ยงไขมันพอกตับไม่รู้ตัว!

กาแฟส้ม เป็นเครื่องดื่มที่หลายคนติดใจนะ คาเฟ่ ร้านกาแฟก็มีเมนูนี้ทั้งนั้น เพราะความเข้มข้นของกาแฟตัดกับความเปรี้ยวหวานของน้ำส้ม มันทั้งสดชื่นจนหลายคนดื่มทุกวัน แต่รู้ไหมว่า เครื่องดื่มแก้วโปรดนี้อาจกลายเป็นปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่อง ไขมันพอกตับ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease: NAFLD) ถ้าดื่มแบบไม่ระวัง แต่ก็ต้องออกตัวก่อนนะว่า ไม่ได้ห้ามกินนะ กินได้ แต่กินยังไงไม่ให้ไขมันพอกตับ ต้องอ่านโพสต์นี้ให้จบ

ไขมันพอกตับ! หมอเตือน เมนูยอดฮิต กินทุกเช้า เสี่ยงป่วยไม่รู้ตัว

สรุปข่าว

โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) กลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินปกติ คือประมาณ 5-10% ของตับ หมอเตือน! เตือนเมนูยอดฮิต กินทุกเช้า เสี่ยงป่วยไม่รู้ตัว พร้อมแนะดื่มยังไงให้ไม่สุขภาพพัง? ใครบ้างที่เสี่ยง ดูวิธีป้องกันที่นี่

1. กาแฟส้มน้ำตาลเยอะกว่าที่คิด!

ถึงจะดูเหมือนเครื่องดื่มเฮลท์ตี้ เพราะมีน้ำส้มสดที่ให้วิตามินซี แต่กาแฟส้มส่วนใหญ่ไม่ได้จบแค่กาแฟกับน้ำส้ม มันมักจะมาพร้อม น้ำเชื่อม หรือ ไซรัป ที่เพิ่มรสหวานเจี๊ยบเข้าไปอีก หรือบางร้านใส่น้ำส้มสำเร็จรูปที่มีน้ำตาลอยู่แล้ว

โดยสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์แตม (Aspartame) หรือซูคราโลส (Sucralose) ที่พบในเครื่องดื่มแบบ “น้ำตาล 0%” แม้จะช่วยลดปริมาณพลังงาน แต่ก็อาจกระตุ้นการอักเสบในระดับเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของตับในระยะยาว

ลองนึกดูนะกาแฟส้มแก้วหนึ่ง ถ้าเติมทั้งน้ำส้ม น้ำเชื่อม และส่วนผสมหวานอื่นๆ คุณอาจได้รับน้ำตาลเกิน 20-30 กรัมต่อแก้วเลยทีเดียว น้ำตาลเหล่านี้ถ้าร่างกายใช้ไม่หมด มันจะถูกเปลี่ยนเป็น ไขมัน และสะสมอยู่ในตับ ซึ่งถ้าปล่อยนานๆ ตับของคุณอาจกลายเป็นที่สะสมไขมันแบบไม่รู้ตัว

2. ไขมันพอกตับ กินกาแฟส้มบ่อยอาจจะเป็นไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ฟังดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการดูแล อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ เช่น ตับอักเสบ (Steatohepatitis) หรือในระยะรุนแรงอาจถึงขั้น ตับแข็ง (Cirrhosis) หรือเพิ่มความเสี่ยงเป็น มะเร็งตับ ได้

สาเหตุหลักของไขมันพอกตับ 

มักมาจากพฤติกรรมกินหวานเกิน หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ โดยเฉพาะ ฟรุกโตส (Fructose) ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในน้ำผลไม้ น้ำเชื่อม หรือไซรัป มันจะถูกส่งไปที่ตับและเปลี่ยนเป็นไขมันโดยตรง ที่แย่ไปกว่านั้น ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่มักไม่มีอาการชัดเจนในช่วงแรก คุณอาจรู้ตัวอีกทีเมื่อตับเริ่มอักเสบแล้ว

3. น้ำส้มดีจริงไหม?

น้ำส้มสดนั้นดีต่อร่างกายในแง่ของการให้ วิตามินซี และ สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ปัญหาคือ น้ำส้มแม้จะสดแค่ไหน ก็ยังมีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูงมากอยู่ดี น้ำส้มหนึ่งแก้วขนาด 250 มิลลิลิตร อาจมีน้ำตาลประมาณ 20-25 กรัม ซึ่งถือว่าเยอะ

พอเอาน้ำส้มมาใส่ในกาแฟ แล้วเติมน้ำเชื่อมหรือส่วนผสมอื่นเข้าไปอีก อาจเพิ่มน้ำหนักและกระตุ้นไขมันพอกตับได้แบบไม่รู้ตัว

4. กาแฟดี แต่ต้องดื่มให้เป็น

จริงๆ แล้วกาแฟธรรมดามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากนะ เพราะในกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น คลอโรเจนิก แอซิด (Chlorogenic Acid) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และอาจช่วยป้องกันไขมันพอกตับในบางกรณี

แต่ประเด็นคือ กาแฟส้มไม่ได้แค่กาแฟล้วนๆ มันมีทั้งน้ำตาล คาเฟอีน และบางครั้งก็มีส่วนผสมอื่นที่เพิ่มแคลอรีไปอีก ถ้าดื่มแบบนี้ทุกวัน สิ่งที่คุณได้ไม่ใช่แค่ประโยชน์จากกาแฟ แต่คุณจะได้ทั้ง น้ำตาลส่วนเกิน และพลังงานที่ร่างกายไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นตัวการหลักของไขมันพอกตับ

5. ดื่มกาแฟส้มยังไงให้ไม่พังสุขภาพ?

อยากดื่มกาแฟส้มแบบไม่เสี่ยงต่อไขมันพอกตับ? จริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเลิกดื่ม แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มให้เหมาะสม ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ แบบนี้:

1. ลดความหวานให้มากที่สุด

• ถ้าชงเอง เลี่ยงการเติมน้ำเชื่อมหรือใช้น้ำส้มคั้นสดแบบไม่เติมน้ำตาล
• ถ้าซื้อจากร้าน เลือกแบบหวานน้อยที่สุด หรือบอกให้ร้านไม่ใส่น้ำเชื่อมเลย

2. ดื่มให้น้อยลง

• กาแฟส้มอาจเป็นเครื่องดื่มโปรด แต่ไม่ควรดื่มทุกวัน ควรจำกัดการดื่มไว้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งพอ เพื่อให้ตับมีเวลาฟื้นตัวและจัดการไขมันส่วนเกิน

3. สมดุลอาหารในแต่ละวัน

• ถ้าวันไหนดื่มกาแฟส้ม ให้ระวังไม่กินอาหารหรือขนมหวานอื่นๆ ที่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในวันเดียวกัน และพยายามกินผัก ผลไม้สด หรือโปรตีนดีๆ เพื่อช่วยควบคุมสมดุลพลังงาน

4. หมั่นออกกำลังกาย

• การออกกำลังกายช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน และลดการสะสมไขมันในร่างกายได้ดี รวมถึงช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น

5. ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

• โดยเฉพาะในคนที่เริ่มมีปัจจัยเสี่ยง เช่น น้ำหนักเกิน มีไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน ควรตรวจค่าเอนไซม์ตับ (AST, ALT) และระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังภาวะไขมันพอกตับ

กาแฟส้มเป็นเครื่องดื่มที่อร่อยและสดชื่น แถมดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพ แต่ความหวานและน้ำตาลที่ซ่อนอยู่ในแก้วนี้ถ้าดื่มบ่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำตาลจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว

อย่างที่บอกไม่ได้ห้ามให้กินนะ แค่ต้องปรับ ถ้าใครชอบดื่มกาแฟส้ม ลองปรับสูตรให้เหมาะสม ดื่มในปริมาณที่พอดี และดูแลสุขภาพโดยรวมให้สมดุล

ขณะที่โรงพยาบาลศิริราชฯ เผย สาเหตุการเกิดโรคไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

1. จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับเพศ ประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์ เรียกว่า alcoholic fatty liver disease

2. จากปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น

-กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานสูงของร่างกาย (metabolic syndrome) เช่น โรคอ้วน (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25) โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง

-การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน

-ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด ยาต้านไวรัสบางชนิด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มต้านฮอร์โมน

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีภาวะไขมันพอกตับ ได้แก่

1. คนอ้วน ผู้ชายรอบเอวเกิน 40 นิ้ว ผู้หญิง รอบเอวเกิน 35 นิ้ว
2. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
3. ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
4. ผู้ที่มีไขมันดี หรือ HDL ต่ำ (ผู้ชาย น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ผู้หญิง น้อยกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
5. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะไขมันเกาะตับ

1. หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักโดยให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยการลดน้ำหนักไม่ควรเกินร้อยละ 7 ในช่วงเวลา 3 เดือน
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
3. ผู้ป่วยที่มีเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดีด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เปิดรายชื่อ 4 สมุนไพรใกล้ตัว ช่วยลดภาวะ "ไขมันพอกตับ" มีอะไรบ้าง?

- เปิด 4 พฤติกรรมเสี่ยง "ไขมันพอกตับ" ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบกินของทอด ต้องดู!

ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก หมอเจด/รพ.ศิริราช

ที่มารูปภาพ : Getty Images

แท็กบทความ

ไขมันฟอกตับ
กาแฟส้ม
กาแฟหมอเจด
ไขมันพอกตับไม่รู้ตัว