

สรุปข่าว
วันที่ 12 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้าจากเหตุโศกนาฏกรรมช้างป่า รวมจำนวน 11 ตัว พลัดตกน้ำตกเหวนรก ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และมีความสูงที่สุด บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลก ความสูงประมาณ 80 เมตรเศษ
ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.21 (เขื่อนขุนด่านปราการชล)จ.นครนายก นายจงคล้าย วรางพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติงานทีมงานเก็บกู้ซากช้างป่า โดยมีนายวิชัยพรลีแสงสุวรรณ ผอ.สำนักอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี),นายครรชิต ศรีนพวรรณ หน.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้การต้อนรับ จากนั้นได้ลงพื้นที่
นายจงคล้าย กล่าวว่า " ภารกิจการกู้ซากช้าง ได้ดำเนินการต่อ โดยได้ชำแหละซากได้รวม 2 ตัว วันนี้(12 ต.ค.) ชำแหละเพิ่ม ได้อีก 1 ตัว เนื่องจากข้อจำกัด ในการเข้าพื้นที่ลำบากตั้งแต่การล่องเรือเข้าไป แล้วเดินเท้าอีกกว่า 2.8 กม. ในพื้นที่เหวนรกที่ซากช้างลอยมา มีพื้นที่จำกัด ต้องทำงานในท่ามกลางกระแสน้ำตก พร้อมกับยังมีฝนตกลงมาบนภูเขา ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มโดยเฉพาะ การเสี่ยงอันตรายกับน้ำป่าไหลหลากจากด้านเหนือน้ำตกเหวนรกลงมา
ในวันนี้ ได้จัดพยาบาลจาก รพ.นครนายก มาประเมินสุขภาพทีมงานกู้ซากช้างป่า ที่ได้ปฏิบัติงานติดต่อหลายวัน และ ได้เตรียมทีมกู้ซากจัดสำรองเข้าทดแทนเจ่าหน้าที่ชุดเก่าที่เหนื่อยล้า หรือ อ่อนแรง เข้าทำงานแทนต่อไป
ในวันนี้จะชำแหละซากช้างต่อ เป็นตัวที่ 3 หลังจากที่ใช้เชือก –ชักลอก ดึงซากช้างออกมาจากซอกหินแล้ว นำซากขึ้นมาด้านบน จะไม่เร่งรัดวัน-เวลา แต่เน้นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ภายหลังการชำแหละซาก จะบรรจุใส่ถุงบรรจุลอยล่องลงมาตามน้ำ ให้ทำติดตาข่ายที่ขึงดักในชั้นล่าง
ในส่วนความกังวล ของผู้ใช้น้ำ ด้านล่างในเขื่อนขุนด่านฯ ที่อาจกระทบมลพิษนั้น การชำแหละซากช้าง ทำด้านบนฝั่ง ไม่กระทบกับน้ำด้านล่าง"
จากการตรวจประเมินสุขภาพของทีมชุดกู้ซากช้างป่า พบว่า มีเจ้าหน้าที่ รวมจำนวน 5 คน ที่มีอาการป่วยต่าง ๆ อาทิ แน่นหน้าอก ,หน้ามืด,อ่อนเพลีย ,เจ็บคอ ได้ส่งต่อให้แพทย์ รพ.นครนายกตรวจเลือด - ตรวจอาการ โดยละเอียดต่อไป
และ นอกจากสภาพในน้ำตกเหวนรก ที่ฤดูฝนเสี่ยงอันตรายน้ำป่าไหลหลากลงมาท่วมเจ้าหน้าที่เก็บกู้ซากช้างป่าในน้ำตกเหวนรกชั้นที่ 5 แล้ว จากสภาพป่าดงดิบ ยังเต็มไปด้วยตัวทากดูดเลือดอีกด้วย ทางมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้บริจาคสมุนไพรตะไคร้หอมป้องกันเป็นจำนวนมาก พร้อมด้วยสบู่เวชภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ สบู่ฆ่าเชื้อ,สมุนไพรฟ้าทะลายโจร,หน้ากากอนามัยป้องกันกลิ่นเน่าเหม็นและอาหารเป็นข้าวเหนียวห่อ-หมูแผ่น-หมูฝอย
และจากที่ช้างป่า ชำแหละยาก แต่เดิมใช้เลื่อยยนต์ตัดชำแหละ ได้ปรับเปลี่ยนโดยใช้เครื่องตัดหญ้า โดยใช้ใบเลื่อยชนิดพิเศษ โดยนายศุภชัยวัฒน์ อินจันทร์ ได้นำมาบริจาคให้ในการใช้ชำแหละช้างป่า โดยมีรองอธิบดีฯเป็นผู้รับมอบ เพื่อให้การชำแหละช้างได้รวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป
ที่มาข้อมูล : -