หลุมยุบกระบี่! ธรณีวิทยา เผยสาเหตุเกิดจากอะไร ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

ธรณีวิทยาภาคสนาม: การสำรวจหลุมยุบ

เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2568 สำนักงานทรัพยากรธรณีสุราษฎร์ธานี เขต 4 (สทข.4) โดยนายธนิต ศรีสมศักดิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุหลุมยุบในสวนปาล์มของนายสุวิทย์ หนูชู หมู่ที่ 10 ตำบลพรุเตียว อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ร่วมกับนายอำเภอเขาพนม ว่าที่ร้อยตรีนครชัย แสงมณี เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกระบี่ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ 

โดยหลุมยุบเกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 เมตร ลึก 10 เมตร พบรอยแยกโดยรอบเป็นวงกลมกว้างราว 50 เมตร และในวันเกิดเหตุมีปริมาณฝนตกประมาณ 60 มิลลิเมตร

หลุมยุบกระบี่! ธรณีวิทยา เผยสาเหตุเกิดจากอะไร ไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

สรุปข่าว

ธรณีวิทยาภาคสนาม สำรวจ "หลุมยุบกระบี่" ศูนย์กลางประมาณ 18 เมตร ลึก 10 เมตร เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น้ำใต้ดินได้พัดพาตะกอนขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างเม็ดทรายออกไป ทำให้เกิดช่องว่างใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปช่องว่างขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ชั้นตะกอนด้านบนยุบตัวลงกลายเป็นหลุมยุบ

ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่เกิดเหตุ

เป็นตะกอนเศษหินเชิงเขา มีลักษณะเป็นทรายปนดินเหนียว อยู่บนเนินลาดเอียงลงสู่ร่องน้ำ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นสันนิษฐานว่า น้ำใต้ดินได้พัดพาตะกอนขนาดเล็กที่อยู่ระหว่างเม็ดทรายออกไป ทำให้เกิดช่องว่างใต้ดิน เมื่อเวลาผ่านไปช่องว่างขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ชั้นตะกอนด้านบนยุบตัวลงกลายเป็นหลุมยุบ ทั้งนี้เหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.5 บริเวณอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568 ดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการเกิดหลุมยุบในครั้งนี้

ข้อเสนอแนะเบื้องต้น

1) ให้กันพื้นที่โดยรอบหลุมยุบเพื่อความปลอดภัย
2) เฝ้าระวังการทรุดตัวเพิ่มเติมจนกว่าพื้นที่จะมีเสถียรภาพ
3) หากจะดำเนินการกลบหลุมยุบ ควรใช้หินขนาดใหญ่รองก้นหลุม ตามด้วยหินขนาดเล็กและปิดทับด้วยดิน
4) เนื่องจากหลุมยุบมีขนาดใหญ่และสร้างความกังวลต่อชาวบ้านในพื้นที่ จึงควรให้กองเทคโนโลยีธรณีดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อประเมินสภาพธรณีใต้ผิวดินและใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการพื้นที่ในระยะยาว

ทั้งนี้ หลุมยุบ (sinkhole) เป็นธรณีพิบัติภัยที่มักเกิดขึ้นในภูมิประเทศแบบคาสต์ซึ่งมีหินจำพวกละลายน้ำรองรับอยู่ใต้ผิวดิน เช่น หินปูน หินโดโลไมด์ ชั้นเกลือหิน ยิปชัม เมื่อหินเกิดการละลายพร้อมทั้งมีกระบวนการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น การกัดกร่อน การผุพัง การชะล้างพังทลาย จะเร่งให้ชั้นดินชั้นหินที่เคยมีเคลื่อนหายออกไปจากที่เดิมจนเกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดินขึ้นแทนที่เมื่อเพดานโพรงถ้ำบางลงจนไม่สามารถแบกรับน้ำหนักพื้นผิวด้านบน ในที่สุดการพังถล่มหรือยุบตัวลงสู่ด้านล่างจะเกิดขึ้นและปรากฏให้เห็นเป็นหลุมกว้างบนผิวดิน 

อ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหลุมยุบได้ที่ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหลุมยุบ โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม https://anyflip.com/kera/tqpw/


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ผวา หลุมยุบตัวกระบี่ กว้าง 20 เมตร หวั่นโยงเหตุแผ่นดินไหว

- แผ่นดินไหวเมียนมา กระทบไทยเกิด "หลุมยุบบนรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" ขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มาข้อมูล : กรมทรัพยากรธรณี

ที่มารูปภาพ : กรมทรัพยากรธรณี

แท็กบทความ

หลุมยุบกระบี่
หลุมยุบ
หลุมยุบ กระบี่
กระบี่ธรณีวิทยา
สำรวจหลุมยุบ