"ลูกบ้าน แอชตัน อโศก" ยิ้ม คมนาคมเร่งยุติปมปัญหา ยกความเห็น “กฤษฎีกา” แนบแนวทางแก้ไข

ลูกบ้าน “แอชตัน” สุขุมวิท 21  หรือ แอชตัน อโศก โดย น.ส.น้ำผึ้ง ใจใหญ่ หนึ่งในเจ้าของร่วมห้องชุดฯ  เดินทางเข้ายื่นหนังสือทวงถามถึงความคืบหน้าต่อนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตันอโศก เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหายังมีความล่าช้า 

จากเดิมที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ยืนยันว่าจะได้ข้อยุติต่อการแสวงทางออกของปัญหาทางเข้า-ออกแอชตัน อโศก ตั้งแต่ปี 2567 ส่งผลทำให้ขณะนี้เจ้าของห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วจำนวน 668 ห้องชุด เกิดปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการซื้อขายเพื่อเปลี่ยนมือ และการรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงิน เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่พึงได้ เนื่องจากมีอัตราความเสี่ยง 

พร้อมกันนี้ น.ส.น้ำผึ้ง ใจใหญ่ หนึ่งในเจ้าของร่วมห้องชุดฯ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เร่งรัดทำหนังสือขอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อแนวทางการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าแอชตันฯ ต่อไป 

ด้านนายสรพงศ์  ยืนยันว่า ทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งการตั้งคณะทำงานฯ และประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อลูกบ้านโดยตรง แต่เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้อกฎหมายที่เห็นต่างกัน ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างการระดมความเห็นพิจารณาข้อกฎหมาย และประชุมนักวิชาการทั้งหมด ให้เกิดความถูกต้องขอกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่อไป  

ล่าสุด  กทม. ได้ยื่นหนังสือขอหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบขอหารือ พร้อมแนวทางออกมาแล้วเช่นกัน ซึ่งถือว่าได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ รฟม. อาจพิจารณาขอความเห็นเรื่องเดียวกันนี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในนาม รฟม. เองโดยตรงอีกครั้ง  ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ด รฟม. แต่มั่นใจว่าปัญหาในเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้  

"ลูกบ้าน แอชตัน อโศก" ยิ้ม คมนาคมเร่งยุติปมปัญหา ยกความเห็น “กฤษฎีกา” แนบแนวทางแก้ไข

สรุปข่าว

รองปลัดคมนาคม ให้ความมั่นใจ "ลูกบ้าน" เร่งยุติปม “แอชตัน อโศก” ยืนยันปัญหาอยู่ระหว่างการแก้ไข ยกความเห็น “กฤษฎีกา” แนบแนวทางแก้ไขปัญหา

“สิ่งที่กระทรวงคมนาคมคำนึง คือ ความสะดวก ความปลอดภัยของลูกบ้าน และประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะทำยังไงให้การบริหารจัดการครัวเรือนทั้ง 668 ครัวเรือน สามารถที่จะดำรงอยู่ได้ โดยมีสวัสดิภาพเรื่องของทางเข้า-ออกอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุนและความสำคัญของลูกบ้าน ยังเปิดโอกาสให้โครงการและลูกบ้านได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องทางเข้า-ออกอยู่ ตามมาตรา 40-41 และเมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องโชคดีของลูกบ้านที่ไม่เพิกถอนโฉนด พรบ.ควบคุมอาคาร เปิดช่องให้แก้ไขให้ถูกต้องได้” นายสรพงศ์ กล่าว

รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมมีแนวทางส่งไปให้ รฟม.ไม่น้อยกว่า 7-8 เดือนแล้ว ทางบอร์ด รฟม. ก็ได้รับแนวทางของกระทรวงไปแล้ว เพียงแต่ว่าแนวทางดำเนินงานต่างๆ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในเชิงของกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนกันต่อไป  ส่วนไทม์ไลน์เกี่ยวกับข้อยุติเรื่องนี้นั้น นายสรพงศ์ กล่าวสั้นๆ ว่า  "เรื่องนี้งวดขึ้นมาทุกทีแล้ว สิ่งที่ต้องขอให้ลูกบ้านแอชตัน อโศก ดำเนินการก็คือ การยื่นหนังสือขอใช้ที่ดินของ รฟม. ฉบับใหม่ และไปตรวจสอบในเรื่องของการยื่นให้ถูกต้องตามระเบียบ รฟม. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  หลังจากครั้งที่แล้วทราบว่า ลูกบ้านได้มีการขออนุญาตใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก แต่ยื่นอุทธรณ์ไม่ถูกข้อบังคับเล็กน้อย ครั้งนี้จึงอยากให้ทางลูกบ้านประสาน รฟม. ดูว่ากลไกการขอยื่นอุทธรณ์รอบใหม่จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องต่อไป"

 สำหรับสาระสำคัญในคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ส่งให้ กทม.นั้น คือ 

1.เรื่องการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้าง กทม.จะต้องออกใบใหม่หรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนถือว่าคำสั่งออกใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง ทำให้การโครงการแอชตันฯ ก่อสร้างโดยไม่มีใบอนุญาต กทม.มีหน้าที่ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย ให้สามารถยื่นคำขอใหม่อีกครั้งได้ ไม่ต้องรื้อหรือทุบ

2.การใช้อำนาจในการออกคำสั่ง ตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปี 2522 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดําเนินการ ระงับการกระทําดังกล่าว หรือห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆของอาคารแล้วแต่ละกรณี เห็นว่า กทม.ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งทำพร้อมกันในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจตามความเหมาะสม และการออกคำสั่งเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องกับเจ้าอาคาร ได้แก่ เจ้าของห้องในอาคารชุดทุกห้อง และนิติบุคคลอาคารชุดเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขอาคาร

ที่มาข้อมูล : กระทรวงคมนาคม

ที่มารูปภาพ : กระทรวงคมนาคม

แท็กบทความ

แอชตัน อโศก
แอชตัน สุขุมวิท 21
กฤษฎีการฟม.
สุรพงษ์ ปิยะโชติ