แผ่นดินไหวล่าสุด! "อนุทิน" เผยเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักร กรุงเทพฯ ถล่ม

ขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้วางกรอบไว้หมดแล้ว และได้มีการรายงานต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงรายงานตนเองว่า ตอนนี้พอจะทราบหนึ่งในสาเหตุ ซึ่งตรงกับที่ทาง ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิตสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อสันนิษฐานทางสื่อสังคมออนไลน์

แผ่นดินไหวล่าสุด! "อนุทิน" เผยเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท

สรุปข่าว

“อนุทิน” เผยความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุอาคาร สตง. ถล่ม กรณีใช้เวลา 90 วัน มาจากข้อเสนอผู้เชี่ยวชาญ เป็นเรื่องเทคนิควิศวกรรม ได้ผลแล้วต้องไร้ข้อโต้แย้ง ด้านเงินเยียวยาผู้เสียชีวิต

ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน และต่างคนต่างใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์คำนวณหาสาเหตุ ในส่วนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ก็ต้องคำนวณในเชิงลึกเพื่อให้เกิดความมั่นใจและไม่มีข้อสงสัย ไม่มีการโต้แย้ง อันเป็นเรื่องของทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ใช้การคำนวณหลักทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ไม่ได้ใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจ

"ตอนนี้เราไปดูเรื่องการออกแบบก่อน เพราะมีเรื่องการออกแบบที่มันไม่สมมาตร (อสมมาตร) ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นอกจากจะเกิดการแกว่งของตัวตึกแล้ว พอการออกแบบอาคารไม่สมมาตรก็ทำให้เกิดแรงบิดด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นเราต้องไปดู Safety Factor ว่าได้ออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ทนต่อแรงบิด แรงเฉื่อย ตามหลักวิศวกรรมตามกฎหมายหรือไม่” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องของสาเหตุตึกถล่มในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนเรื่องการกระทำผิด เรื่องฮั้ว เรื่องการทุจริต เรื่องการประมูล ไม่ใช่หน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองโดยคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบและสรุปข้อมูลเพื่อที่จะส่งไปให้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของโครงการได้รับทราบ เพื่อไปดำเนินการต่อ ซึ่งคนที่เป็นคณะกรรมการฯ นั้น

 ท่านเป็นอาจารย์ เป็นนายกสภาวิศวกร เป็นกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ทั้งหมด ดังนั้น เป็นเรื่องทางเทคนิค เมื่อคณะกรรมการฯ ขอเวลา 90 วัน สิ่งที่เราจะต้องขอร้องก็คือ มีทางที่ทำให้เร็วขึ้นไหม ซึ่งท่านเหล่านั้นยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถ้าออกแล้วมันต้องไม่มีข้อโต้แย้ง ผิดก็ต้องผิดเลย ไม่มีการเอาไปดูว่าผิดไหม ซึ่งเขามีการตรวจสอบคำนวณเชิงลึกแยกตามสถาบันด้วย ต่างคน ต่างคำนวณ แล้วจึงมาประชุมสรุปร่วมกัน กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถไปก้าวก่าย ไปล่วงละเมิดได้

ส่วนเรื่องการปลอมแปลงเอกสารตามที่ติดตามข่าวจากสื่อมวลชน ขณะนี้ทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัว ตนในฐานะเป็นวิศวกรคนหนึ่งฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องวิชาชีพ เหมือนกับแพทย์ที่ไปออกใบรับรองแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามความจริง มันผิดหลักจรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งการปลอมแปลงลายเซ็นต์เป็นเรื่องใหญ่มากถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดี

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนจะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมืองมาหารือว่า กรมฯ ได้มีการควบคุมเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่ เช่นสภาวิศวกรที่เป็นคนออกใบอนุญาต (License) วิศวกร ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ถ้ามีการปลอมลายเซ็นต์หรือปลอมแปลงเอกสารที่เป็นไปตามในข่าวจริง การที่ว่าส่ง ๆ มาแล้วก็เซ็น ๆ ไป อย่างนั้นไม่ใช่ความเป็นวิชาชีพ ทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด การจะเซ็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับการต้องใช้ License ใบอนุญาตต่าง ๆ ก็ต้องมีความเข้มงวด และได้รับการปฏิบัติด้วยตนเอง

ทางด้านเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ กรมบัญชีกลางได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)เสนอ ยกเว้นหลักเกณฑ์รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหว และได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่าน ปภ. โดยเป็นเงินค่าช่วยเหลือทำศพและช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตกรณีเหตุแผ่นดินไหวรายละ 100,000 บาท จากเดิมรายละ 20,000 กว่าบาท

โดยขณะนี้ ปภ. ได้ประสานญาติของทุกครอบครัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในวันพรุ่งนี้ หลังจากจบการประชุมปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปภ. จะได้มีการมอบเงินเยียวยาดังกล่าวให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ในส่วนต่างจังหวัดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้มอบต่อไป


"เงินในส่วนนี้เป็นเพียงส่วนเดียว แต่ผู้ได้รับความเสียหายก็ต้องได้รับเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ อีก เช่น เงินประกันทั้งจากผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมา และจากประกันสังคม ที่เป็นสิทธิตามกฎหมาย และการเยียวยานี้ รวมไปถึงผู้บาดเจ็บที่ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ก็จะมีค่าชดเชยความเสียหายจากงบประมาณในส่วนนี้ด้วย อันเป็นความตั้งใจของทางรัฐบาลและทุกฝ่าย" นายอนุทิน กล่าว

ที่มาข้อมูล : รัฐบาล

ที่มารูปภาพ : มท./กทม.