นักวิทยาศาสตร์พบ “หลักฐานชัดเจนที่สุด” อาจมีชีวิตบนดาว K2-18b โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่าพวกเขาพบหลักฐานใหม่ที่อาจบ่งชี้ถึงการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ K2-18b ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ห่างไกลนอกระบบสุริยะ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 120 ปีแสง หรือราว 1,135 ล้านล้านกิโลเมตร 
โดยข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope - JWST) ของนาซา แสดงให้เห็นถึงโมเลกุลบางชนิดในชั้นบรรยากาศของดาวดวงนี้ ซึ่งบนโลกผลิตได้เฉพาะจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแพลงก์ตอนและแบคทีเรีย

การค้นพบครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ตรวจพบสัญญาณเคมีที่อาจเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศของ K2-18b และครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ทีมวิจัยและนักดาราศาสตร์อิสระย้ำว่ายังจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ K2-18b

ศาสตราจารย์นิกกุ มธุสุทัน (Prof. Nikku Madhusudhan) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เปิดเผยว่า “นี่คือหลักฐานที่แข็งแกร่งที่สุดที่เรามีว่าอาจมีชีวิตนอกโลกจริง และภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เราอาจยืนยันสัญญาณนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น”
สำหรับดาวเคราะห์ K2-18b มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.5 เท่า โดยปัจจุบันกล้อง JWST มีความสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศจากแสงที่ผ่านมาจากดาวฤกษ์แม่สีแดง K2-18  ดาวแคระแดง (Red Dwarf) หรือที่เรียกว่า M-type star ดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำกว่าดวงอาทิตย์มาก ประมาณ 0.1–0.6 เท่า 


นักวิทยาศาสตร์พบ “หลักฐานชัดเจนที่สุด” อาจมีชีวิตบนดาว K2-18b โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

สรุปข่าว

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พบสัญญาณโมเลกุลในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ K2-18b ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งมีชีวิต โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) แม้ยังไม่สามารถยืนยันได้เต็มที่ แต่ถือเป็นหลักฐานที่เข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2025
ทีมวิจัยพบร่องรอยของโมเลกุลสองชนิด ได้แก่ ไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS) และไดเมทิลไดซัลไฟด์ (DMDS) ซึ่งบนโลกผลิตโดยสิ่งมีชีวิตในทะเล ศาสตราจารย์นิกกุ มธุสุทัน ระบุว่า เขารู้สึกประหลาดใจกับปริมาณก๊าซที่ตรวจพบ “เราประเมินว่าก๊าซนี้มีอยู่ในปริมาณมากกว่าบนโลกหลายพันเท่า หากมาจากสิ่งมีชีวิตจริง ก็อาจหมายถึงดาวเคราะห์ดวงนี้เต็มไปด้วยชีวิต”


เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากเรายืนยันการมีชีวิตบน K2-18b ได้ นั่นก็จะเป็นการยืนยันว่าชีวิตเป็นเรื่องธรรมดาทั่วทั้งดาราจักร”
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยอมรับว่ายังมีข้อสงสัยมากมาย โดยการตรวจพบล่าสุดนี้ยังไม่ถึงระดับมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถประกาศการค้นพบได้อย่างเป็นทางการ เพราะต้องมีความแม่นยำระดับ "Five-sigma" หรือความมั่นใจ 99.99999% แต่ตอนนี้ยังอยู่ที่ระดับ "Three-sigma" หรือ 99.7% ซึ่งแม้จะฟังดูสูง แต่ยังไม่มากพอสำหรับชุมชนวิทยาศาสตร์


แม้ได้ผลถึงระดับ "Five-sigma" ก็ยังไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาของก๊าซว่าเป็นผลจากชีววิทยาหรือไม่ ศาสตราจารย์แคทเธอรีน ไฮแมนส์ (Prof. Catherine Heymans) จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่าบนโลกก๊าซเหล่านี้ผลิตโดยจุลินทรีย์ แต่ในจักรวาลอาจมีปรากฏการณ์ธรณีวิทยาแปลกประหลาดที่เรายังไม่เข้าใจ ทีมจากเคมบริดจ์จึงร่วมมือกับห้องทดลองอื่น ๆ เพื่อทดลองสร้าง DMS และ DMDS โดยไม่ใช้สิ่งมีชีวิต เพื่อหาว่ามีทางเลือกอื่นในการอธิบายหรือไม่


นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเสนอว่าดาว K2-18b อาจไม่มีพื้นผิวเลย เป็นเพียงดาวแก๊สขนาดเล็ก หรืออาจเป็นดาวที่มีมหาสมุทรของหินหลอมละลาย ซึ่งไม่เอื้อต่อชีวิต แต่การไม่มีแอมโมเนียในชั้นบรรยากาศอาจสนับสนุนแนวคิดว่ามีมหาสมุทรน้ำขนาดใหญ่ซึ่งดูดซับแอมโมเนียเอาไว้
ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ ชอร์ตเทิล (Prof. Oliver Shorttle) ชี้ว่า การวิเคราะห์ดาวเคราะห์นอกระบบขึ้นอยู่กับแสงเพียงเล็กน้อยที่สะท้อนผ่านบรรยากาศของมัน ดังนั้นการตีความข้อมูลจึงยังเปราะบางมาก


แม้ยังมีข้อถกเถียง แต่ศาสตราจารย์นิกกุ มธุสุทัน มั่นใจว่าพวกเขาเดินมาถูกทาง “ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เราอาจมองย้อนกลับมา ณ ช่วงเวลานี้ว่าเป็นจุดเปลี่ยน เมื่อคำถามพื้นฐานว่ามนุษย์อยู่เพียงลำพังในจักรวาลหรือไม่ เริ่มมีคำตอบ”


งานวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์ K2-18b ที่ตรวจพบโมเลกุลไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS) และไดเมทิลไดซัลไฟด์ (DMDS) ซึ่งเป็นสารชีวภาพที่อาจบ่งชี้ถึงการมีสิ่งมีชีวิต ถูกเผยแพร่ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา

ที่มาข้อมูล : https://www.cam.ac.uk/stories/strongest-hints-of-biological-activity

ที่มารูปภาพ : University of Cambridge