
สรุปข่าว
ซาบ (Saab) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ เรือดำน้ำ และยุทโธปกรณ์จากสวีเดน เปิดเผยว่าสามารถปิดการขายเครื่องบินขับไล่แบบกริพเพน (Gripen E/F) จำนวน 12 ลำ ให้กับกองทัพอากาศของเปรู และยังสามารถขายเครื่องบินควบคุมและระวังภัยส่วนหน้า (AEW&C) รุ่นโกลบอลอาย (GlobalEye) ให้กับเดนมาร์กได้อีกด้วย ซึ่งทำให้สื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่าแรงจูงใจในการซื้อของสองประเทศอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงข่าวการจัดหา Gripen E/F ของกองทัพอากาศไทยด้วยเช่นกัน
สรุปข่าว
ข้อมูลเครื่องบินขับไล่ Gripen E/F
Gripen E/F เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4.5 ซึ่งเน้นความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ ติดตั้งเครื่องยนต์เจ็ตเทอร์โบแฟน (Turbofan jet) ของเจเนอรัล อิเล็ก (General Electric หรือ GE) รุ่น F414G จากสหรัฐฯ ทำความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือ 2,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางขึ้นบิน (Take-off Distance) อยู่ที่ 500 เมตร น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximum Take-Off Weight: MTOW) อยู่ที่ 16,500 กิโลกรัม
Gripen E/F รองรับการติดตั้งอาวุธและเทคโนโลยีอำนวยการรบมาตรฐาน NATO รวมถึงระบบโครงข่ายข้อมูล (Data Link) แบบ Link-16 ที่ใช้ในเครื่องบินขับไล่มาตรฐานสหรัฐฯ และ NATO รวมถึง F-16 Fighting Falcon และ Link-T ที่กองทัพอากาศไทยถือสิทธิ์จาก Saab ในการใช้งาน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ Link-RTN ในกองทัพเรือไทย
ข้อมูลเครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ GlobalEye
ซึ่งเครื่องบินรบที่อาจจะเก่งในการรบ การใช้อาวุธ แต่การมองเห็น ก็ยังสู้เครื่องบินที่เรียกว่า เครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ หรือ AEW&C (Airbourne Early Warning & Control) ที่จะทำหน้าที่ตรวจจับและติดตามอากาศยาน, เรือ, ยวดยาน, มิสไซล์ หรือวัตถุอื่นใดที่เคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์เข้าใกล้จากระยะไกลมาก และสามารถพิสูจน์ฝ่ายของอากาศยานว่าเป็นมิตรหรือข้าศึกแบบเรียลไทม์และส่งข้อมูลผ่าน Data Link
และ Saab ก็มี GlobalEye ที่เป็นทีเด็ดของ AEW&C ซึ่งรองรับการทำงานแบบพหุภารกิจ ทั้งตรวจจับวัตถุบนอากาศ สัญญาณภาคพื้นดิน รวมถึงสิ่งที่อยู่บนผิวน้ำ มิตร ศัตรู แยกออกได้หมด โดยมีระยะตรวจจับไกลสุด 450 กิโลเมตร
เหตุผลในการจัดซื้อ Gripen E/F และ GlobalEye
ในกรณีของเปรูที่เลือกซื้อ Gripen 12 ลำ เป็นเพราะเรื่องของราคา โดย 12 ลำแรก ใช้เงินไป 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 66,000 ล้านบาท เพราะตามแผนการแล้ว รัฐบาลเปรูตั้งงบไว้ที่ 3,422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท สำหรับเครื่องบินรบ 24 ลำ และอุปกรณ์ทางการทหารอื่น ๆ เพื่อทดแทน Mirage 2000 ของฝรั่งเศส กับ MiG-29 ของรัสเซียที่ประจำการในปัจจุบัน
ส่วนเดนมาร์กนั้นเป็นชาติที่ไม่เคยมีเครื่องบิน AEW&C มาก่อน แต่เลือกที่จะมีและใช้ GlobalEye เพื่อเสริมการเฝ้าระวังน่านฟ้าเดนมาร์ก จากความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปและท่าทีทางการเมืองและสงครามการค้าของสหรัฐฯ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยราคาในข้อตกลงนี้นี้
Gripen E/F กับโอกาสครั้งใหม่ในโปรตุเกสและแคนาดา
แต่การปิดดีลในเปรูและเดนมาร์ก อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะทั้งโปรตุเกสและแคนาดา แสดงท่าทางว่าสนใจซื้อ Gripen ด้วยกันทั้งสองชาติ โดยในฝั่งแคนาดา ที่มีเครื่องบินขับไล่ CF-18A/B Hornet กว่า 98 ลำ นั้นกำลังจะเก่าและต้องปลดประจำการ ทางรัฐบาลแคนาดาจึงวางแผนจะนำ F-35 มาใช้แทน จนบรรลุข้อตกลงในการซื้อ F-35 16 ลำแรกไปแล้ว
แต่ท่าทีของรัฐบาลในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้แคนาดาต้องการสงวนท่าทีมากขึ้น กับเครื่องบินอีกกว่า 72 ลำที่เหลือ จึงมีการไปปัดฝุ่นเอกสารดูว่า นอกจาก F-35 แล้ว มีเครื่องบินรุ่นไหนที่ตรงใจกองทัพอากาศแคนาดาบ้าง คำตอบจึงกลายเป็น Gripen E/F ส่งผลให้ Saab กับแคนาดากำลังเจรจาเพื่อปิดดีลกันอยู่ในตอนนี้
ส่วนโปรตุเกสก็มีเหตุผลคล้าย ๆ กันกับแคนาดา คือการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้แผนทดแทน F-16AM/BM เป็น F-35 ขอพับไปก่อน แล้วก็ดูว่ามีใครที่พอชดเชยได้บ้าง ซึ่งก็มี Gripen ที่เข้าตา
แต่ฝั่งโปรตุเกสก็กังวลว่า ถึงจะหนีจาก F-35 ที่เป็นอเมริกัน แต่เครื่องยนต์ของ Gripen ก็ยังคงเป็นของอเมริกา แม้ว่าจะได้สิทธิ์ Made In Sweden ก็ตาม ทำให้โปรตุเกสก็ยังคงอยู่ในการวิเคราะห์ ชั่งน้ำหนักความต้องการในแง่ต่าง ๆ
ทำไม Gripen และ Saab ปีนี้ถึงได้มีข่าวดีต่อเนื่อง
คำตอบ อาจมาจาก 2 ปัจจัย และหนึ่งในนั้น ก็คือกองทัพอากาศของไทย โดยปัจจัยแรกคือความไม่แน่นอนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมาแม้ว่า F-35 จะมีราคาแพงมาก จนวอล์ต โควอลสกี (Walt Kowalski) อดีตผู้จัดการโครงการของ NATO เคยพูดเปรยไว้ว่า F-35 ก็เหมือนเฟอรารี ส่วน Gripen ก็เหมือน Honda Civic เพราะไม่มีอู่ข้างทางที่ไหนซ่อม Ferrari ได้ แต่อู่ข้างทางที่ซ่อม Honda Civic ได้นั้นมีแน่ ๆ
แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดอ่อนหนึ่งเท่านั้น แต่ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ทำให้ NATO ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทำให้ Gripen ที่มีต้นกำเนิดใน NATO ด้วยกันมากกว่าได้รับการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ในขณะที่ข่าวการเสนอขาย Gripen E/F ให้กับกองทัพอากาศไทยนั้นก็ส่งผลให้กองทัพอากาศชาติอื่น ๆ มีมุมมองต่อ Gripen ที่ดีขึ้น Saab ยังยกการใช้งาน Gripen ของกองทัพอากาศไทยให้เป็นหนึ่งในความสำเร็จในการใช้งานเครื่องบินรบที่ทันสมัยเวลาเสนอขายในต่างประเทศเช่นกัน โดยยกตัวอย่างการติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศ AIM-120 AMRAAM ซึ่งเป็นจรวดที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกกับ Gripen C/D ในกองทัพอกาศไทยเกิดขึ้นได้โดยราบรื่น
สุดท้าย ไม่ว่าแต่ละชาติจะเลือกเครื่องบินรบรุ่นไหน จากใคร ก็เพราะว่าแต่ละชาติ มีโจทย์หลักอย่างความคุ้มค่าทางงบประมาณ กับการวางกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนกัน
ที่มาข้อมูล : Eurasian Times, Zona Militar, Euro News, Army Recognition, The Aviationist
ที่มารูปภาพ : Saab, Getty Images