โรงพยาบาลชายแดนยังไหวไหม ​? หลังทรัมป์ตัดงบช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

การกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ไม่ได้สะเทือนแค่ชาวสหรัฐฯ แต่สะเทือนไปทั้งโลก และมาถึงชายแดนไทย-เมียนมา หลังเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สั่งระงับความช่วยเหลือในโครงการต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสถานพยาบาลในพื้นที่พักพิงผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 


ปัจจุบันค่ายลี้ภัยชายแดนไทยทั้งหมด 9 ค่าย มีผู้ลี้ภัยราว 90,000 คน อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย และได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก การตัดงบประมาณของสหรัฐฯ สร้างผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากศูนย์พักพิงชั่วคราว 7 แห่งซึ่งกระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ได้รับการสนับสนุนหลักจากองค์การอินเตอร์เนชั่นแนลเรสคิวคอมมิตตี (IRC) ที่ต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมดเป็นเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งทบทวนนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ


ทั้งนี้พื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 7 แห่งประกอบด้วย 1.บ้านถ้ำหิน จ.ราชบุรี 2.บ้านต้นยาง จ.กาญจนบุรี 3.บ้านนุโพ จ.ตาก 4.บ้านอุ้ทเปี้ยม จ.ตาก 5.บ้านแม่หละ จ.ตาก 6.บ้านแม่สุริน จ.แม่ฮ่องสอน 7.บ้านใหม่ในสอย จ.แม่ฮ่องสอน


ซึ่งผลจากการปิดตัว และตัดงบนี้ ทำให้ผู้ป่วยในสถานที่พักพิงชั่วคราวที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินต้องไปหาทางรักษาที่อื่น หรืออาจไม่ได้รับการรักษาเลย


โรงพยาบาลชายแดนยังไหวไหม ​? หลังทรัมป์ตัดงบช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

สรุปข่าว

การรับมือจากภาครัฐ


หลังการประกาศของทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบกับไทยแน่ๆ แพทย์ และหน่วยงานราชการด้านสาธารสุข ก็ได้ประกาศถึงแนวทางการเตรียมความพร้อม และทางแก้ไข โดย นพ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก (นพ.สสจ.) ได้ให้สัมภาษณ์กับ  Hfocus สำนักข่าวด้านสาธารณสุขว่า ทางจังหวัดได้ประชุมเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ศูนย์พักพิงที่ปกติได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขจาก IRC จะต้องพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือใหม่ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคจิตเวช วัณโรค และการคลอดบุตร ซึ่งเดิมสามารถแอดมิทภายในค่ายได้ แต่เมื่อสถานพยาบาลในค่ายปิดตัวลง การส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงจึงมีความจำเป็นมากขึ้น

โรงพยาบาลในอำเภอชายแดนที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ลี้ภัยประกอบด้วย โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลพบพระ โรงพยาบาลท่าสองยาง โรงพยาบาลแม่ระมาด และโรงพยาบาลแม่สอด โดยตอนนี้ โรงพยาบาลได้มีการจัดหน่วยแพทย์มาช่วยตรวจหน้าศูนย์พักพิง ซึ่ง  นพ.พิทักษ์พงษ์ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ไม่น่ามีปัญหา สามารถดูแลได้ แต่หากระยะยาวก็ต้องมาประเมินอีกครั้ง” ซึ่งตอนนี้วิธีการที่ดำเนินการคือการป้องกัน แต่ต่อจากนี้ ก็เตรียมแผนขอสนับสนุนงบประมาณจาก NGO และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยสามารถดำเนินต่อไปได้

ซึ่ง นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก หนึ่งในโรงพยาบาลที่มักช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนั้น ก็มองถึงการพอไปทางกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาตั้งกองทุนขอบริจาคระดับประเทศ เพราะไม่ได้มีแค่จังหวัดตาก แต่ยังมีคนไม่มีสัญชาติ และต้องการรับการรักษาในไทยจำนวนมาก 

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ ทรัมป์ตัดเงินว่า ทางกระทรวงมหาดไทยจะมีการดูแลหน่วยพยาบาล และ "สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีงบประมาณสำรองสำหรับกรณีผู้ลี้ภัยที่ประสบภาวะวิกฤติ และไม่มีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตัวเอง เราจะไม่ปล่อยให้ใครต้องมาเสียชีวิตในประเทศของเราโดยที่เราสามารถช่วยเหลือได้ นี่คือหลักมนุษยธรรมที่ประเทศไทยยึดถือเสมอ"

ทั้งยังมองว่า ไทยมีการควบคุมชายแดน แม้คนเหล่านี้เข้ามารักษาอาการป่วย "ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาหลบหนีความรุนแรงจะได้รับการดูแลภายในพื้นที่ที่กำหนด เมื่อสถานการณ์สงบแล้วก็จะถูกส่งตัวกลับประเทศตามความเหมาะสม"

เสียงสะท้อนจากผู้ทำงานแนวหน้า


การตัดงบทำให้หลายศูนย์ผู้พักพิง ไปถึงโรงพยาบาลได้รับผลกระทบด้วย  โดยพญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซประจำปี 2546 และผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวชายขอบว่า "การตัดงบประมาณครั้งนี้ทำให้เราต้องลดค่าใช้จ่ายลงถึง 30% เราต้องหาทางออกว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้จะไปต่ออย่างไร องค์กรเล็ก ๆ ที่พึ่งพาแหล่งทุนเดียวจะได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วยที่อาจต้องหยุดชะงัก เราจำเป็นต้องมองหาแหล่งทุนใหม่ และหาทางช่วยผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินและภาวะวิกฤติให้ได้มากที่สุด"


พญ.ซินเทียยังมองอีกว่า การตัดงบนี้ จะกระทบกับทั้งผู้ลี้ภัย 90,000 คนในค่าย และผู้คนนับแสนที่พลัดถิ่นในเมียนมา และตามป่าที่กำลังหลบหนีการโจมตีระเบิดของสงครามกลางเมือง ซึ่งสำหรับฝั่งไทย อาจได้รับผลกระทบจากคนไข้ที่จะเข้ามาขอความเชื่อเหลือ 

และเมื่อเร็วๆ นี้ เสียงสะท้อนจากผู้ทำงานแนวหน้าก็ได้ปรากฎขึ้น จากการโพสต์เฟซบุ๊กของ พญ.ณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ หมอเบียร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด ที่กล่าวถึงภาระงานที่หนักหน่วงที่เพิ่มขึ้น ข้อความระบุว่าผู้บริหารให้หมอรับตรวจ เคสวัณโรคกับเอชไอวีในศูนย์อพยพ เพราะ รพช. ไม่สามารถดูแลได้ จะให้รถโรงพยาบาลไปรับคนไข้เอามาให้ตรวจที่แม่สอด โดยไม่ดูภาระงานที่ทำอยู่ตอนนี้เลย ก่อนจะโพสต์อีกข้อความระบุว่า

"การดูแลค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่หน้าที่ของสาธารณสุขท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระดับชาติที่ต้องอาศัยการจัดการของรัฐบาล หากบุคลากรในโรงพยาบาลท้องถิ่นถูกแบ่งไปทำหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัย ระบบสาธารณสุขไทยเองก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ความเห็นของเบียร์คือต้องจัดบุคลากรอีกชุดหนึ่งเพื่อมาดูแลค่ายอพยพ  ในช่วงเร่งด่วนแนะนำให้เขาหางบประมาณมาจ้างหมอเมียนมากลุ่มเดิมที่เคยดูแลอยู่แล้วระหว่างรองบประมาณใหม่ แต่เค้าไม่ทำแบบนั้น เค้ามาแบ่งหมอจากโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไปไปออกตรวจ จำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดเท่ากับประชากรหนึ่งอำเภอเลย ในระยะยาวต้องพูดคุยเรื่องการแก้กฎหมายผู้ลี้ภัยให้ถูกต้อง และมีการผลักดันกลับประเทศเดิม”


คนไทยชายแดนเสียสละมามากพอแล้ว ทุกวันนี้บุคลากรก็ไม่พอ คนไข้ก็ต้องรอนาน รอทุกอย่างทั้งรอหมอและรอคิวในการตรวจ  บางคนเป็นมะเร็งก็ต้องรอการวินิจฉัยและการรักษา แล้วจะมาให้เค้าเสียสละเพิ่มโดยการแบ่งหมอของพวกเขาไปให้คนอื่นอีกหรอคะ” ก่อนที่จะโพสต์ข้อความถึงการลาออกจากตำแหน่งด้วย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่แม้เจ้าหน้าที่ และผู้มีอำนาจจะบอกถึงการจัดการได้ แต่หมอหน้างานที่รับภาระจริงๆ นั้น ได้รับผลกระทบโดยตรง 

ก่อนหน้านี้ ทาง TNN Online ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ลี้ภัย ซึ่งก็พูดถึงการตัดงบของทรัมป์ว่า "องค์กรที่ดูแลค่ายลี้ภัยส่วนใหญ่อาศัยงบประมาณจากสหรัฐฯ เป็นหลัก บางส่วนได้รับเงินจากองค์กรคริสเตียนระดับโลก แต่เมื่อสหรัฐฯ ตัดงบประมาณไป 90% ของเงินสนับสนุนที่หายไป สิ่งที่ไทยต้องทำคือวางแผนรับมือในระยะยาว เพราะผู้ลี้ภัยไม่ได้อยู่ที่นี่เพียงชั่วคราว พวกเขาอยู่มาเกือบ 40 ปีแล้ว ไทยต้องมีระบบจัดการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการใช้มาตรการแก้ไขปัญหาชั่วคราว" ซึ่งอาจารย์พูดไปถึงการแก้ไขกฎหมายการรับผู้ลี้ภัย ซึ่งก็ตรงกับที่ พญ.ณัฐกานต์  กล่าวเช่นกัน 

เห็นได้ชัดว่า การตัดงบประมาณของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขชายแดนไทย-เมียนมา แม้ว่าหน่วยงานรัฐและองค์กรท้องถิ่นจะพยายามหาทางออกและให้การช่วยเหลือ แต่หากไม่มีการวางแผนในระยะยาว ปัญหานี้อาจนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางมนุษยธรรมได้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องหาทางสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และสร้างระบบดูแลผู้ลี้ภัย ไปถึงเริ่มพูดถึงกฎหมาย หรือการจัดการเรื่องนี้ เพื่อลดผลกระทบในอนาคต

ที่มาข้อมูล : https://transbordernews.in.th/home/?p=41220 https://www.hfocus.org/content/2025/02/33002

ที่มารูปภาพ : AFP