เมื่อสหรัฐฯ ทอดทิ้ง ยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อ กระทบอะไรไทยบ้าง ?

เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก เมื่อสหรัฐฯ ประกาศยุติให้ความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดแก่ยูเครน หลังทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือด ต่อหน้าสื่อเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จนทำให้ข้อตกลงแร่หายากของทั้ง 2 ประเทศล่ม


คำถามต่อมาหลังจากนี้ คือ ยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อสหรัฐฯ หันหลังให้แล้ว หรือนี่จะเป็นการบีบยูเครนต้องพ่ายแพ้ให้กับรัสเซีย 

เมื่อสหรัฐฯ ทอดทิ้ง ยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อ กระทบอะไรไทยบ้าง ?

สรุปข่าว

สหรัฐฯ ยุติให้ความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดแก่ยูเครน หลังประธานาธิบดี 2 ฝ่าย ปะทะคารมกันเมื่อไม่กี่วันก่อน การยุติให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ของสหรัฐฯ อาจทำให้สถานการณ์ยูเครนแย่ลงกว่าเดิม จนถึงขึ้นพ่ายแพ้ให้แก่รัสเซีย หลังสงครามความขัดแย้งดำเนินเข้ามาสู่ปีที่ 4

สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือทางทหารยูเครน


วันนี้ (4 มีนาคม) เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เผยว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ตัดสินใจยุติมอบความช่วบเหลือทางทหารให้แก่ยูเครนแล้ว หลังจากที่เขาและประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มีปากเสียงกัน ณ ห้องทำงานรูปไข่ เมื่อวันศุกร์ (28 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา และยกเลิกการลงนามข้อตกลงแร่หายากของทั้ง 2 ฝ่ายไป


“ประธานาธิบดีของเราแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาต้องการมุ่งเป้าไปที่สันติภาพ และเราต้องการให้พันธมิตรมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นด้วยเช่นกัน เราหยุดและทบทวนความช่วยเหลือของเรา เพื่อให้มั่นใจว่า มันจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหา” ทำเนียบขาว แถลง 


ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะประกาศระงับการสนับสนุนทางทหารยูเครน “ทรัมป์” ได้โพสต์ผ่าน Truth Social ถึงแถลงการณ์ของประธานาธิบดียูเครน ที่ยอมรับว่า สันติภาพกับรัสเซียยังห่างไกล


"อเมริกาจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว เซเลนสกีไม่ต้องการสันติภาพ ตราบเท่าที่อเมริกาและยุโรปยังสนับสนุนยูเครนอยู่...เซเลนสกีเองก็ยอมรับว่า ยูเครนจะสู้รบกับรัสเซียต่อไปไม่ได้ ถ้าขาดการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ” ทรัมป์ กล่าว

“เราจะอยู่รอดได้ไม่นาน”


ก่อนหน้านี้ “เซเลนสกี” ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC ว่า ยูเครนมีโอกาสรอดน้อยมาก ๆ หากปราศจากความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ยูเครนเสี่ยงต่อการถูกโจมตีครั้งใหญ่จากรัสเซีย 


“เรามีโอกาสรอดน้อยมาก ๆ หากปราศจากความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ” เซเลนสกี กล่าว 


“ผมไม่อยากคิดถึงเรื่องนี้ การต่อสู้กับรัสเซีย โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกา...ผมไม่อยากคิดว่า เราจะไม่ใช่พันธมิตรทางยุทธศาสตร์” เขา กล่าว 


เซเลนสกี กล่าวด้วยว่า ยูเครนจะเสี่ยงต่อการถูกโจมตีครั้งใหญ่จากรัสเซีย หากสหรัฐฯ ไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารอีกต่อไป  ประธานาธิบดีปูตินต้องการเจรจาบนโต๊ะ ไม่ใช่เพราะต้องการยุติสงคราม แต่เพื่อให้ได้ข้อตกลงหยุดยิง ที่จะทำให้ยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาชาติ และเปิดโอกาสให้มีการเตรียมกลุ่มทหารใหม่อีกครั้ง 


“นี่เป็นสิ่งที่ปูตินต้องการจริง ๆ เขาต้องการหยุด, เตรียมตัว, ฝึกฝน และยกเลิกการคว่ำบาตรบางข้อ เพื่อแลกกับการหยุดยิงและอื่น ๆ ” เซเลนสกี กล่าว


ยูเครนจะอยู่ได้แค่ 6 เดือน-คลังอาวุธอาจอยู่ได้ถึงแค่กลางปี


พลโท อิฮอร์ โรมาเนนโก อดีตรองหัวหน้าเสนาธิการกองทัพยูเครน กล่าวกับสำนักข่าว Al Jaeera ว่า ยูเครนจะอยู่ได้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น หากสหรัฐฯ ตัดการช่วยเหลือ 


โรมาเนนโก ชี้ให้เห็นถึงภาพล่วงหน้าของยูเครนว่าจะเป็นอย่างไร หากสหรัฐฯ ไม่ให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยเมื่อปี 2024 งบประมาณความช่วยเหลือยูเครน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อนุมัติล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตอบสนองของนักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน 


ระหว่างนั้น ยูเครนต้องสูญเสียจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่ง บนพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ในภูมิภาคดอนบาส รวมถึงชีวิตทหารอีกหลายพันนาย 


“เราได้เห็นแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างจากการระงับความช่วยเหลือนานถึง 6 เดือน” โรมาเนนโก กล่าว


นิโคไล มิโตรคิน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบรเมิน ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ปริมาณการใช้คลังอาวุธจากสหรัฐฯ ของยูเครนจะหมดเร็วเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับว่า ทหารเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ต่อสู้มากน้อยแค่ไหน  

การโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องของรัสเซีย บีบบังคับให้ยูเครนจำเป็นต้องใช้ขีปนาวุธแพตทริออต ซึ่งผลิตในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ 


มิโตรคิน กล่าวว่า ขีปนาวุธแพตทริออตมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ แต่มักถูกใช้ไปกับเป้าหมายที่สิ้นปลืองอย่าง โดรนชาเฮดจากอิหร่าน หรือ โดรนจำลองที่ผลิตในรัสเซีย พร้อมคาดว่า คลังอาวุธสหรัฐฯ ที่มีอยู่จะอยู่ได้ยาวสุดช่วงเดือนกรกฏาคม-กันยายน 


ยุโรปแทนที่สหรัฐฯ ไม่ได้ 


ด้วยการให้ความช่วยเหลือที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ยุโรปจึงต้องเผชิญกับแรงงานดันอย่างมาก เพื่อมาเติมเต็มช่องว่างการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นนี้ 


ขณะเดียวกัน ระหว่างการประชุมความมั่นคงมิวนิก ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เซเลนสกีได้แสดงท่าทีตอบสนองต่อการกระทำของทรัมป์ โดยเสนอแนะว่า ยุโรปจำเป็นต้องสร้างกองทัพของตนเอง พร้อมเตือนว่า สหรัฐฯ อาจจะปฏิเสธให้ความช่วยเหลือกับยุโรป แม้ว่ายุโรปจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย 


ถึงจะมียุโรปคอยให้ความช่วยเหลือยูเครน แม้ความกังวลเรื่องการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ความช่วยเหลือจากยุโรปนั้นอาจไม่เพียงพอ 


โรมาเนนโก กล่าวว่า ยูเครนต้องการความช่วยเหลือมากกว่าที่ยุโรปจะสามารถให้ได้ 


“ยุโรปไม่สามารถแทนที่ความช่วยเหลือจากอเมริกาได้...ยูเครนจะอยู่รอดได้ไม่นาน หากไม่มีความช่วยเหลือและการคาดการณ์ทางทหารจากสหรัฐฯ” พลโท โรมาเนนโก กล่าว 


นอกจากความช่วยเหลือที่อาจไม่เพียงพอ บางประเทศในยุโรปก็อาจตัดสินใจไม่ช่วยเหลือยูเครนด้วยเช่นกัน 


วิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีฮังการี และโรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย ไม่สนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอย่างเต็มที่ และอาจจะขัดขวางยุโรปไม่ให้ทำการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ 


ขณะที่ พรรคฝ่ายขวาอย่าง พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือ AfD ในเยอรมนี ก็ชนะเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะทำให้ยุโรปตัดสินใจส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครนยากขึ้น 


ทั้งนี้ พรรค AfD คัดค้านนโยบายผู้อพยพ, สหภาพยุโรป บ่อยครั้งก็สนับสนุนปูติน จึงทำให้เกิดความกังวลว่า หากพรรคมีอำนาจมากขึ้น เยอรมนีอาจจะหยุดส่งความช่วยเหลือให้กับยูเครน และผลักดันผู้อพยพจากประเทศนี้กลับบ้านเกิด 


แม้ยุโรปตัดสินใจเพิ่มการสนับสนุนความช่วยเหลือ แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการขยายการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งรัสเซียสามารถผลิตอาวุธทางทหารได้รวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศนาโต รวมถึงยังมีความช่วยเหลือด้านอาวุธและทหารจากเกาหลีเหนือด้วย 

ถ้ายูเครนแพ้ จะเป็นอย่างไร ?


สถาบันอเมริกันเอ็นเตอร์ไพรส์ หรือ AEI รายงานว่า หากรัสเซียชนะสงครามในยูเครน สหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นอีกถึง 8.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2029 เพื่อป้องกันภัยคุกคามเพิ่มเติมจากรัสเซีย 


สิ่งนี้จะทำให้กระทรวงกลาโหมต้องเพิ่มงบประมาณเป็น 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 4.4 ล้านล้านดอลาร์สหรัฐ จากแผนเดิมที่เคยวางไว้ 


รายงานฉบับนี้ เผยด้วยว่า ชัยชนะของรัสเซียจะเปลี่ยนความมั่นคงของยุโรป และสนับสนุนให้รัสเซียท้าทายประเทศนาโต โดย AEI เรียกร้องให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือยูเครน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับอเมริกาในอนาคต 


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้กระทบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพันธมิตรของอเมริกา ที่พึ่งพิงความช่วยเหลือ อาจหวั่นว่า พวกเขาจะถูกทอดทิ้งแบบยูเครนหรือไม่ 


ขณะที่ ไทยเอง ก็อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงในแง่ทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน 


ปี 2567 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย อยู่ที่ 54,956 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ส่วนการนำเข้าอยู่อันดับที่ 4 ของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 19,528 ล้านดอลลาร์


เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าจะดำเนินไปทิศทางไหน เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://www.reuters.com/world/europe/trump-halts-all-us-military-aid-ukraine-white-house-official-says-2025-03-04/

https://www.nbcnews.com/politics/national-security/zelenskyy-difficult-ukraine-survive-us-military-support-rcna192196

https://www.aljazeera.com/news/2025/2/17/we-will-last-six-months-if-trump-pulls-us-military-aid-from-ukraine

https://ubn.news/if-ukraine-loses-the-war-it-will-cost-the-us-dearly/

https://www.thansettakij.com/economy/trade-agriculture/617469

ที่มาข้อมูล : Reuters, NBC News, Al Jazeera, UBN News, Thansettakij

ที่มารูปภาพ : Reuters

avatar

พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์