สงครามชิปสะท้านโลก ทรัมป์จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป หนุนสหรัฐฯ ผลิตเองครบวงจร

ยังไม่จบกับการขึ้นภาษีแบบไม่หยุดของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้านี้ ออกมาประกาศยกเว้นภาษีแบบตอบโต้ ในกลุ่มสินค้าสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ 


แต่ล่าสุด ทรัมป์ก็ออกมาแง้มว่า เขาเตรียมจะประกาศขึ้นภาษีเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิปในสัปดาห์หน้า ที่อาจสั่นคลอนต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก 


แล้วทำไม “ทรัมป์” ต้องการจะขึ้นภาษีเซมิคอนดักเตอร์ สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากการกระทำนี้ จริงหรือ ?


“ทรัมป์” เปิดศึกสงครามเทคโนโลยี จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป 


อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไมโครชิป ที่เราเห็นมีขนาดเล็กจิ๋วอย่างนี้ แต่อำนาจที่แท้จริงของมันนั้นทรงพลังยิ่งหนัก เพราะเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนโลกทุกชิ้น รวมถึงอาวุธทางทหาร ล้วนมีชิปเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่ใครก็ต้องการเป็นผู้นำด้านนี้ 


ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ทรัมป์” ที่แม้ตอนนี้ สหรัฐฯ จะเป็นผู้ออกแบบ และคิดค้น “ชิป” ขึ้น แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการผลิตจากประเทศอื่น ๆ อยู่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กลุ่มประเทศเอเชีย เป็นผู้นำการผลิตด้านนี้ 


การประกาศจะขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ทรัมป์ ต้องการส่งเสริมให้บริษัทเทคต่าง ๆ หันกลับมาผลิตชิปขั้นสูงในสหรัฐฯ มากขึ้น แทนการนำเข้า และมองว่า การพึ่งพาประเทศอื่นในการผลิตชิป ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ และสหรัฐฯ จะไม่ยอมตกเป็นตัวประกันของประเทศอื่น โดยเฉพาะจีน 


และคิดว่า การขึ้นภาษีนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมชิปสหรัฐฯ สหรัฐฯ เติบโต  

สงครามชิปสะท้านโลก ทรัมป์จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป หนุนสหรัฐฯ ผลิตเองครบวงจร

สรุปข่าว

“ทรัมป์” อาจกลับลำ จ่อขึ้นภาษีไมโครชิป เปิดศึกสงคราม เทคโนโลยีขั้นสูง ลั่นไม่มีใครรอดพ้น การขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ

หนุนสหรัฐฯ ผลิตชิปเอง


แล้วอย่างนี้ สหรัฐฯ จะสามารถผลิตชิปเอง ครบจบในคนเดียวได้หรอ คำตอบคือ “แทบจะเป็นไปได้ยาก” 


เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีประเทศไหน สามารถผลิตชิปแบบผูกขาดได้ 100% แม้สหรัฐฯ จะเป็นคนคิดค้น แต่วัสดุการผลิต อย่าง ซิลิคอน มาจากสหรัฐฯ และนอร์เวย์ หลังจากนั้นก็ต้องส่งไปผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ญี่ปุ่น วงจรชิปผลิตที่ไต้หวัน, เกาหลีใต้ หรือ จีน หลังจากนั้น ก็ต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วประกอบเข้าด้วยกัน จึงจะนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 


ที่สำคัญคือ ผู้ผลิตชิป ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ ASML เพื่อผลิตชิป AI ขั้นสูง ซึ่งมีอยู่แค่ที่เนเธอร์แลนด์เท่านั้น 


จะเห็นได้ว่า กว่าจะประกอบเป็นชิปจิ๋ว ๆ ที่เราเห็นอยู่นี้ หนึ่งอัน ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากหลากหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ในการที่จะย้ายห่วงโซ่การผลิตชิปมาไว้ที่ประเทศเดียว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ใช้เวลาการสร้างและทำงานมานานหลายสิบปี คล้ายกับระบบการทำงานร่วมกันของทีมระดับโลก


ขณะเดียวกัน บริษัทเทคต่าง ๆ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย หากต้องผลิตชิปขั้นสูงในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก แรงงานมีทักษะไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่วิศวกรด้านชิปที่เก่งสุด มักมาจากจีน ไม่ก็อินเดีย, ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น, ความล่าช้าในการก่อสร้าง และแรงกดดันจากสหภาพแรงงานท้องถิ่น 


แม้ว่า บริษัท TSMC และ Samsung ผู้ผลิตชิปอันดับต้น ๆ ของโลก ก็ตั้งโรงงานในรัฐแอริโซนา และเท็กซัส แต่การผลิตชิปขั้นสูงส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในไต้หวัน


แต่ถึงกระนั้น สหรัฐฯ ก็ได้ลงทุนหลายพันดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ, กฎหมาย CHIPS and Science Act ก็ได้ช่วยเหลือทางการเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ มาสร้างโรงงานในสหรัฐฯ รวมถึง TSMC ของไต้หวันด้วย ที่ได้รับเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ ราว 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตั้งโรงงานในแอริโซนา แต่การขั้นตอนการผลิตชิปนั้นมีความซับซ้อน จึงทำให้เกิดความล่าช้า  


ทรัมป์จึงเตือนบริษัท TSMC ว่า อาจต้องเผชิญการขึ้นภาษีสูงถึง 100% หากไม่มาสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นในอเมริกา


บริษัทต่าง ๆ ตอบสนองต่อแรงกดดันทรัมป์อย่างไร ? 


แผนการขึ้นภาษีใหม่ของรัฐบาลทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก เพราะส่วนใหญ่จะผลิตอยู่ในเอเชีย ไม่ใช่สหรัฐฯ


แม้ว่า สหรัฐฯ จะซื้อชิปคิดเป็น 30% ของทั้งโลก แต่มีกำลังการผลิตเพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งถือว่า เป็นช่องว่างที่ใหญ่มาก 


และการขึ้นภาษีนี้ แน่นอนว่า นอกจากกระทบบริษัทต่าง ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ก็ต้องซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นตามด้วย 


ขณะเดียวกัน บริษัทต่าง ๆ ก็ตอบสนองต่อแรงกดดันดังกล่าว Nvidia ประกาศว่า จะผลิตชิป AI ใหม่ในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก โดยชิปจะผลิตโดย TSMC แต่เป็นโรงงานในแอริโซนา 


ขณะที่ Foxconn และ Wistron ซึ่งเป็นบริษัทของไต้หวันทั้งคู่ จะช่วยสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ในเท็กซัสภายใน 12-15 เดือนข้างหน้า


เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น หลายประเทศ อย่างจีน, ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เริ่มหันมามุ่งเน้นสร้างโรงงานผลิตชิปด้วยตัวเอง แทนการพึ่งพาประเทศอื่น 


ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Huawei จากจีน ก็ขยายกิจการไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และแอฟริกา เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของสหรัฐฯ แม้ว่ากำไรจะน้อยลง แต่ก็ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดในเกมได้


ขณะเดียวกัน อินเดีย ก็กระโดดเข้าลงสนามนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากค่าแรงถูก และมีระบบการศึกษาที่ดีกว่า ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชีย แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านดินแดนในการตั้งโรงงาน และแหล่งน้ำคุณภาพที่จำเป็นต่อการผลิตชิป 

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


บทความจาก Nikkei Asia วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ดังนี้  


1.ประเทศอื่น ๆ จะพยายามผลิตชิปด้วยตัวเอง เพื่อปกป้องตัวเอง หากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพิ่มมากขึ้น 


2.สิ่งนี้อาจทำให้มีโรงงานผลิตชิปมากเกินไป และอาจทำให้ราคาตกต่ำได้หากความต้องการไม่เพิ่มขึ้น


3.สิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อความต้องการโทรศัพท์ รถยนต์ และคอมพิวเตอร์ในระดับโลกเริ่มชะลอตัวลงแล้ว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://asia.nikkei.com/Economy/Trade-war/Trump-tariffs/Trump-chip-tariff-threat-throws-wrench-into-global-supply-network

https://www.bbc.com/news/articles/cd9ljwgg9y0o

https://www.bbc.com/news/technology-66394406

https://www.scmp.com/tech/big-tech/article/3306453/chinas-chip-trade-faces-uncertainty-after-growing-first-quarter-amid-us-tariff-war

https://www.bbc.com/news/articles/cm2xzn6jmzpo

ที่มาข้อมูล : Nikkei Asia, BBC, SCMP

ที่มารูปภาพ : Reuters