
"นี่มันคือขนม หรือ ยาเสพติด"
หลายคนคงคิดในใจเมื่อได้เห็นรูปลักษณ์ของยาเสพติดชนิดใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดในหมู่วัยรุ่นที่ชื่อว่า "ยาอี ขนม-ลาบูบู้" แม้จะมีรูปร่างน่ารัก แต่เจ้าขนมยาเสพติดนี้ ได้คร่าชีวิตผู้เสพไปอย่างน้อย 2 คนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
ในยุคที่ทุกอย่างดูง่ายและใกล้ตัว พ่อค้ายาเสพติดได้ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอสินค้าให้แนบเนียนยิ่งขึ้น หนึ่งในเทรนด์ที่น่ากังวลที่สุดคือ การทำให้ "ยาเสพติด" ดูเหมือนขนมหรือเครื่องดื่มทั่วไป "ยาอี ขนม-ลาบูบู้" คือหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์จากเทรนต์ดังกล่าว
แต่ในวงการยาเสพติด การปรับรูปลักษณ์ของยาเสพติดให้ดึงดูด ชวนลิ้มลองไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีทั้งยาเสพติดในรูปแบบช็อกโกแลต ชาเขียว หรือแม้แต่กระดาษเคลือบสารเสพติด เพื่อหลอกล่อเยาวชนที่ไม่ทันระวังตัว

สรุปข่าว
ภัยซ่อนเร้นภายใต้ความน่ารัก
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด มองว่าการปรับรูปลักษณ์ยาเสพติดในปัจจุบันที่ใช้คาแรคเตอร์ของตัวการ์ตูนเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเหมือนไม่ใช่ยาเสพติด เช่น เครื่องดื่ม ขนม หรืออุปกรณ์ทั่วไป เพราะเครือข่ายยาเสพติดมีเป้าหมายที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าทั้งหน้าเก่า และ หน้าใหม่ รวมไปถึงยังเป็นการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
โดยสิ่งที่น่ากังวลที่มากกว่ารูปลักษณ์ คือ การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสารเสพติด 1 เม็ด มีสารอะไรผสมอยู่บ้าง และ นอกจากฤทธิ์ของยาที่ทำให้มึนเมา และ เกิดการเสพติด มันจะเป็นอันตรายกับเราได้ขนาดไหน
"จากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่าพ่อค้ายามักผสมสารราคาถูกลงไปเพื่อลดต้นทุน หรือสร้างสารผสมใหม่ให้ดูแปลกตาและน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งน่ากังวลว่าการผลิตเหล่านี้ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพใด ๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว" รศ.พญ.รัศมนกล่าว
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด
"ขนม-ของเล่น" กลยุทธ์การตลาดขององค์กรอาชญากรรม
ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้ติดตามสถานการณ์ยาเสพติดอย่างใกล้ชิด ชี้ว่า รูปแบบใหม่ของยาเสพติดาไม่ได้เน้นการเปลี่ยนสารตั้งต้นเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่เป็นการเปลี่ยน "หน้าตา" เพื่อหลบหลีกสายตาคนทั่วไป รวมถึงเป็นแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของขบวนการยาเสพติดที่ไม่ต่างกับการทำการตลาดในรูปแบบของการทำธุรกิจทั่วไป ที่มีการใช้กลยุทธ์การตลาด มีการวางกลุ่มเป้าหมาย และ เข้าใจเทรนด์ของวัยรุ่นในปัจจุบัน
"การปรับรูปแบบของสารเสพติดมีพัฒนาการมานานแล้ว เพราะในตลาดการค้ายาเสพติดก็มีคู่แข่งทางงธุรกิจ แต่ละแก๊ง แต่ละองค์กรจึงมักพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อชิงพื้นที่การตลาด ทั้งการปรับเปลี่ยนส่วนผสม การปรับรูปร่างหน้าตาเพื่อดึงดูด เพื่อง่ายต่อการจดจำและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เหมือนเป็นการสร้างแบรนด์ หรือ เป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือกลุ่มวัยรุ่นบางกลุ่มที่อาจถูกเพื่อนชักชวนให้เสพ เพราะไม่รู้ว่ามันคือยาเสพติดมีฤทธิ์ร้ายแรง ผิดกฎหมาย เพราะถูกพรางด้วยรูปลักษณ์และ ชื่อเรียกที่เปลี่ยนไปเพราะมันดูเหมือนขนมหรือเครื่องดื่มธรรมดาที่ไม่มีพิษภัย" ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ กล่าว
ผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
เทรนด์ใหม่ของนักเสพยา
ในมุมมองของผศ.ดร.ปรีชญาณ์ มองว่าสารเสพติดที่น่ากังวลกว่ายาเสพติดแปลงโฉม คือ เทรนด์ของการเสพสารเสพติดในหมู่วัยรุ่นยุคใหม่ ที่ไม่ได้ใช้ยาเสพติดแบบดั้งเดิม แต่เป็นการทดลองผสมสารเสพติดขึ้นมาใช้เองในหมู่เด็กและเยาวชน ถามว่าพวกเขาทำได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่าเป็นเหรียญอีกด้านของยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ และ มีตัวอย่างขั้นตอนการทำแบบละเอียดที่แพร่หลายในโลกออนไลน์
แม้จะเรียนรู้วิธีทำจากออนไลน์ แต่สิ่งที่อนนไลน์ไม่เคยบอก คือ พิษภัยและผลข้างเคียงของสารเสพติดเหล่านั้น ที่อาจกลายเป็นพิษจนทำให้เกิดอาการช็อค หรือ เสียชีวิต ที่สำคัญการรักษา หรือ ล้างสารพิษก็ค่อนข้างยาก เพราะแพทย์จะไม่สามารถประเมินได้ว่ามีสารเคมีอะไรอยู่ในร่างกายของเด็กที่เสพสารผสมเหล่านั้นเข้าไป
"พัฒนาการของผู้เสพยาในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จากเดิมที่คนติดยาจะเริ่มจากบุหรี่ เหล้า พัฒนาไปกัญชา และ สารเสพติดที่แรงขึ้น แต่ในปัจจุบันเด็ก และ เยาวชนเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ตและ ไปซื้อยาธรรมดาที่ร้านขายยานำมาผสมเองเป็นอะไรก็ได้ที่เสพแล้วเมา ซึ่งยาที่ผสมออกมากบางตัวอาจอันตรายกว่ายาเสพติดหลักด้วยซ้ำ" หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ มศว ทิ้งท้าย
ที่มาข้อมูล : สัมภาษณ์แหล่งข่าว , ป.ป.ส.
ที่มารูปภาพ : ป.ป.ส.