
ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินข่าว การเจรจาเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ ระหว่างอิหร่าน และสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ นับได้ว่า เป็นการเจรจาที่มีความพยายามมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงเมื่อปี 2018 จนเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ปีนี้ สหรัฐฯ และอิหร่านก็เริ่มกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารอีกครั้ง โดยมีประเทศโอมาน เป็นตัวกลางในการเจรจา และหวังว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะหาทางตกลงร่วมกันอย่างสันติได้ ขณะที่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยถึงขั้นขู่ว่า หากข้อตกลงล้มเหลว เขาจะใช้กำลังทางทหารกับอิหร่าน
แล้วอย่างนี้ อนาคตข้อตกลงนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นอย่างไร
ย้อนเรื่องราว แฉอิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ลับ
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ขอย้อนไปในช่วงปี 2002 มีรายงานว่า อิหร่านมีโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมลับ 2 แห่ง โดยเชื่อว่า มีขึ้นเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT ที่อนุญาตให้แต่ละประเทศมีพลังงานนิวเคลียร์ไว้เพื่อสันติภาพเท่านั้น และการดำเนินทุกกิจกรรมจำเป็นต้องเปิดเผยต่อ IAEA
โดยอิหร่านได้ทำการระงับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในปี 2003 ระหว่างนั้นก็มีการเจรจาจากหลายฝ่าย เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
ก่อนที่ต่อมา ปี 2006 หลัง “มาห์มุด อะห์มัดเนจาด” ผู้นำสายแข็ง ชนะการเลือกตั้ง อิหร่านประกาศจะกลับมาเริ่มกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมอีกครั้ง และทำให้การเจรจาหยุดชะงัก และเริ่มมีมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านขึ้น

สรุปข่าว
นานาชาติคว่ำบาตร อิหร่านยอมถอย เดินหน้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์
อิหร่านต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยหนัก ค่าเงินตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตร ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้อิหร่าน เดินหน้าสู่การเจรจา เพื่อทำข้อตกลงด้านนิวเคลียร์
ปี 2015 อิหร่านร่วมลงนามข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA กับ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร มีเป้าหมายป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีข้อกำหนดที่เข้มงวดต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
แต่ข้อตกลงนี้ มีกำหนดบังคับใช้สูงสุด 15 ปี นั่นหมายความว่า เมื่อครบกำหนด อิหร่านก็อาจจะสามารถดำเนินกิจกรรมโครงการนิวเคลียร์ต่าง ๆ ได้อิสระมากขึ้น และนั่นทำให้ ทรัมป์มองว่า นี่เป็นข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรม เนื่องจากการบังคับใช้ไม่ถาวร และข้อตกลงนี้ ไม่ได้หยุดโครงการอาวุธของอิหร่าน รวมถึงเขาต้องการข้อตกลงที่ดีกว่านี้
สหรัฐฯ จึงได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว ในปี 2018
อเมริกาถอนตัว อิหร่านเพิกเฉย
หลังอเมริกาถอนตัวออกจากข้อตกลง JCPOA สถานการณ์ความตึงเครียดเรื่องโครงการนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านจึงเพิ่มขึ้น
เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัว มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ มีต่ออิหร่าน จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และเรียกร้องให้อิหร่านหันมาเจรจาใหม่ เพื่อขยายข้อตกลงเพิ่มเติม
ทางอิหร่านเอง เมื่อเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ จึงเริ่มเมินเฉยต่อการปฏิบัติตามข้อตกลงมากขึ้น
และแม้ว่า จะมีความพยายามที่จะเจรจาเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้
อิหร่านพัฒนาโครงการนิวเคลียร์เพิ่มเติม
คำถามต่อมาคือ แล้วระหว่างนั้น อิหร่านดำเนินการโครงการนิวเคลียร์ของตัวเองอะไรบ้างจนถึงตอนนี้
ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เปิดเผยในเดือนมีนาคม 2025 ว่า อิหร่านมียูเรเนียมอยู่ประมาณ 275 กิโลกรัม ซึ่งมีปริมาณเข้มข้นบริสุทธิ์ถึง 60% ซึ่งถือว่า เป็นตัวเลขที่มากเกินกว่าจะใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านพลังงาน และใกล้เคียงที่จะสามารถผลิตระเบิดได้ ที่ต้องมีความเข้มข้นอยู่ที่ 90%
ทั้งนี้ ตามข้อตกลง อิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ให้ถึงระดับความบริสุทธิ์อยู่ที่ 3.67% เท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า อิหร่านอาจสามารถผลิตวัตถุดิบสำหรับทำระเบิดนิวเคลียร์ได้เพียงพอภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาจต้องใช้เวลา 6-18 เดือนในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์
สหรัฐฯ-อิหร่าน เปิดช่องทางสื่อสารอีกครั้ง
ด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้น กอปรกับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจที่ผกผัน จึงเป็นปัจจัยผลักดันให้ทั้ง 2 ฝ่าย หันกลับมาสื่อสารกันอีกครั้ง แม้ว่า จะยังไม่ใช่การเจรจาโดยตรง
ตั้งแต่เดือนเมษายน ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มกลับมาสื่อสารกัน โดยมีโอมาน ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยกล่าวไว้ว่า เขาต้องการทำข้อตกลงใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยต้องการต้องการให้อิหร่านหยุดการผลิตแร่ยูเรเนียคุณภาพสูง ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่าอิหร่านมีจุดประสงค์เพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และหากข้อตกลงล้มเหลว สหรัฐฯ จะใช้กองกำลังทหารต่ออิหร่าน
ขณะที่ อิหร่านเองก็เผยว่า พร้อมเจรจา แต่จะต้องเป็นในกรณีที่ไม่มีภัยคุกคามทางทหาร และข้อตกลงต้องมีความยุติธรรม และเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมยืนยันว่า โครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อสันติ
การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย มีขึ้นแล้วทั้งหมด 2 รอบ ซึ่งส่งสัญญาณไปในทิศทางที่บวก โดยทางทรัมป์ออกมาเผยว่า สหรัฐฯ และอิหร่านได้ผลการเจรจาที่ดีมากเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ และอิหร่าน เตรียมจะเจรจากันรอบที่ 3 ในวันที่ 26 เมษายนนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งการเจรจาครั้งต่อไป จะเป็นการเจรจา “ระดับผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อหารือรายละเอียดของข้อตกลงที่เป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งถือได้ว่า เป็นความก้าวหน้าเชิงบวก ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.cfr.org/backgrounder/what-iran-nuclear-deal
https://time.com/7276006/timeline-tensions-between-iran-us-nuclear-negotiations-loom/
ที่มาข้อมูล : CFR, Time, BBC, AP News
ที่มารูปภาพ : Reuters