

สรุปข่าว
กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการเร่งรัดพัฒนาการเดินทาง ด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย เร็วยิ่งขึ้น
โดยกระทรวงฯกำหนดจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ จากสถานีเตาปูน-สถานีสิรินธร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 และพร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสาย เตาปูน-ท่าพระ ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการจากสถานีเตาปูน-สถานีสิรินธร ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และได้เร่งรัดดำเนินงานในการขยายการให้บริการให้ครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น ซึ่ง ล่าสุด ได้พร้อมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้เพิ่มอีก 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางยี่ขันบางขุนนนท์ ไฟฉาย และสถานีจรัญฯ13 รวมเป็น 8 สถานี คือ จากสถานีบางโพ- จรัญฯ 13 ตั้งแต่เวลา 10.00น.-16.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา และจะให้ทดลองใช้ไปจนถึง 29 มีนาคม 63 โดยจะมีรถไฟฟ้าให้บริการแบบวิ่งไป-กลับจากสถานีเตาปูน-สถานีท่าพระ จำนวน 6 ขบวน ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที หากผู้โดยสารจากสายสีน้ำเงินปัจจุบันหรือสายสีม่วง ต้องการเดินทางไปยังปลายทางระหว่างสถานีจรัญฯ13 -สถานีบางโพ จะต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระหรือสถานีเตาปูน
สำหรับ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอย่างเต็มรูปแบบทั้งโครงข่าย จะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติทั้งเส้นทาง ในวันที่ 30 มีนาคม2563 เป็นต้นไป โดยจะคิดค่าบริการตามระยะทางตั้งแต่สถานีแรกที่ 16 บาท สูงสุด 42 บาท ส่วนกรณีเดินทางเชื่อมต่อสายสีม่วงจะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตร หรือเหรียญโดยสารที่ประตูทางเข้าแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที
ซึ่งโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ระยะทางรวม 28 กม. แบ่งเป็น2 ช่วงคือ ช่วงหัวลำโพง- บางแค ระยะทาง 16 กม. จำนวน 11 สถานี และช่วงบางซื่อ-บางแค ระยะทาง 12 กม. จำนวน 9 สถานี และเมื่อสายสีน้ำเงินเปิดให้บริการเต็มโครงข่ายแล้ว จะมีระยะทางรวม 48 กม. จำนวนทั้งหมด 38 สถานี รวมทั้งจะมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วมเชื่อมต่อเส้นทางเป็นโครงการวงกลมครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดได้มากขึ้น
ด้านประชาชน ที่ได้ทดลองใช้บริการรถไฟฟ้า จากสถานีท่าพระ ถึงสถานีเตาปูน ครั้งแรก บอกว่า เป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนในแถบชานเมืองอย่างมาก แต่ในกรณีที่ต้องการเดินทางต่อไปยังสายสีม่วง หรือรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล ยังมีความสับสนในการเปลี่ยนชานชาลา และการแตะบัตรโดยสารเข้าออกสถานีต่างๆอยู่มาก แต่ก็เชื่อว่าในส่วนของประชาชนมีการใช้บริการเป็นประจำ ก็จะเกิดความคุ้นเคย ขณะที่ประชาชนที่อาจจะไม่ได้ใช้บริการประจำก็อาจจะเกิดความสับสนได้ จึงอยากให้มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม โครงข่ายคมนาคมใหม่และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีส่วนทำให้ทำเลฝั่งธนฯ คึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะย่าน ถ.จรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนของทำเลฝั่งธนฯ เป็นย่านที่อยู่อาศัย ชุมชนเก่าแก่ ที่มีความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ รวมทั้งทำเลที่เชื่อมต่อกับย่านธุรกิจสำคัญ ใกล้แหล่งการศึกษาหลายแห่งและศูนย์กลางทางการแพทย์ชั้นนำ ยิ่งทำให้ย่านนี้เป็นที่น่าสนใจ ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ฯแข่งขันกันพัมนาโครงการใหม่ๆขึ้นมากมาย โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า เหมาะกับผู้ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เน้นการเดินทางที่สะดวก หรือที่ยังไม่มีครอบครัว
CR:เว็บไซต์ศุภาลัย
แต่ทั้งนี้ การเดินทางแม้จะสะดวก แต่ก็ยังมีความเห็นจากประชาชนถึงค่าบริการของรถไฟฟ้า ที่ยังสูงเกินไป เนื่อ่งจากการเดินทางไม่ได้จบแค่เพียงรถไฟฟ้าเพียงต่อเดียว ยังต้องมีต่อจักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ หรือขนส่งสาธารณะอื่นๆร่วมด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางจึงนับว่าเป็นภาระของประชาชนอยู่ไม่น้อย
ยกตัวอย่าง เช่น หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายมาจากบ้านย่านท่าพระ เพื่อเดินทางมายังที่ทำงาน ย่านรัชดา ซึ่งต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากบ้านในซอย 20 บาท เพื่อมาใช้ขึ้นรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่สถานี ท่าพระ ซื้อตั๋วโดยสารไปลงยังสถานีห้วยขวาง อัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ 42 บาท (รวมค่าแรกเข้าแล้ว) เมื่อมาลงสถานีห้วยขวางแล้ว ต้องต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เข้าไปในซอยที่ทำงานอีก 40 บาท รวมค่าเดินทาง 1 เที่ยว จะมีค่าใช้จ่าย 102 บาท หากต้องเดินทางไป-กลับ จะมีค่าใช้จ่าย 204 บาทต่อวัน และหากคำนวณค่าใช้จ่ายในวันทำงาน 23 วัน จะเท่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 4,896 บาท ( คำนวณจากอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป ไม่ใช้ตั๋วรายเดือน ยกตัวอย่างวันทำงาน 23 วัน ไม่รวมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ )
อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้เสนอมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่ให้ รฟม. ดำเนินมาตรการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยกำหนดอัตราโดยสารสูงสุด 20 บาท (14 – 20 บาท) จากอัตราค่าโดยสารปกติ (14 – 42 บาท) สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token) ตลอดระยะเวลาเปิดให้บริการ (05.30 น. – 24.00 น.) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงฯต้องการให้ลดอัตราค่าโดยสาร โดยคิดค่าแรกเข้า 14 บาท ขณะที่หากเดินทาง 1 สถานี คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 17 บาท และ เดินทาง 2 สถานี ขึ้นไป คิดค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย
สำหรับ ผู้ถือบัตรโดยสารประเภทเด็ก อายุไม่เกิน 14 ปี (วันเกิดครบรอบ 14 ปี) และมีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และผู้สูงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จะได้รับส่วนลด 50% สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารประเภทนักเรียน/นักศึกษา ที่มีอายุเกินวันเกิดครบอายุ 14 ปี แต่ไม่เกินวันเกิดครบ 23 ปี จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารดังกล่าวข้างต้น
กรณีผู้โดยสารเดินทางต่อเนื่อง 2 สาย ระหว่าง MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง จะเก็บค่าโดยสารในอัตรา สูงสุด 48 บาทต่อเที่ยว โดยจะเริ่มทดลองใช้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 จากนั้น รฟม. จะประเมินความเหมาะสมและผลสัมฤทธิ์ของมาตรการดังกล่าว โดยในเบื้องต้น รฟม. คาดว่าจะมีปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 282,500 คน-เที่ยว/เดือน
ทั้งนี้ หากมาตรการดังกล่าวได้รับการอนุมัติและประกาศใช้ได้จริง ก็เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนนโยบายการลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนตามนโยบายภาครัฐ รวมถึงยังเป็นสนับสนุนการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ การใช้ชีวิตให้แก่ประชาชนในย่านชานเมืองได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
- Exclusive Content : เมื่อดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง หนุนตลาดอสังหาฯ??
- Exclusive Content: วางแผนลดหย่อนภาษี อะไรใช้ลดหย่อนได้บ้าง?
- Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand
ที่มาข้อมูล : -