ตรวจพบ “พายุแม่เหล็กโลกระดับรุนแรง” กระทบระบบไฟฟ้า - ดาวเทียม จริงไหม?

พายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 จากการระเบิดของดวงอาทิตย์ จริงไหม?

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงอาทิตย์ได้ปลดปล่อยมวลสารโคโรนา (Coronal Mass Ejections: CMEs) ออกมา 2 ระลอก ก่อนที่ในวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 03:55 น. ตามเวลาประเทศไทย จะสามารถตรวจจับพายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 (ระดับรุนแรง) ได้ ซึ่งเป็นระดับที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

CMEs เป็นการปล่อยมวลสารจากดวงอาทิตย์ที่เมื่อพุ่งมายังโลก จะใช้เวลาเดินทางราว 1-3 วัน และสามารถกระทบกับสนามแม่เหล็กของโลกได้โดยตรง ล่าสุด ความรุนแรงของพายุแม่เหล็กเริ่มลดลง แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดระดับ G1 - G3 (เล็กน้อยถึงรุนแรง) ต่อเนื่อง

ตรวจพบ “พายุแม่เหล็กโลกระดับรุนแรง” กระทบระบบไฟฟ้า - ดาวเทียม จริงไหม?

สรุปข่าว

ดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานมวลสารโคโรนา ทำให้เกิดพายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 เมื่อ 17 เม.ย. 2568 ส่งผลให้เกิดแสงออโรราชัดเจนในแถบขั้วโลก และเสี่ยงกระทบระบบไฟฟ้า-ดาวเทียม ไทยไม่ได้รับผลกระทบ แต่สามารถติดตามข้อมูลจาก NARIT อย่างใกล้ชิด

ผลกระทบจากพายุแม่เหล็กโลกครั้งนี้ มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. แสงออโรราสว่างชัด – ปรากฏเหนือประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลก อันเกิดจากอนุภาคประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ชนกับแก๊สในชั้นบรรยากาศ
2. ความเสี่ยงระบบไฟฟ้า – โดยเฉพาะพื้นที่ละติจูดสูง มีโอกาสเกิดไฟดับจากหม้อแปลงเสียหาย เช่นเหตุการณ์ไฟดับในแคนาดาปี 1989
3. ความเสี่ยงต่อดาวเทียมและระบบนำทาง – อาจทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในดาวเทียม หรือส่งผลต่อระบบ GPS และการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (Solar Flare) ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้สัญญาณคลื่นวิทยุขาดหายชั่วคราวในบางช่วงเวลา

สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบหรือไม่

ไม่มีผลกระทบจากพายุแม่เหล็กโลกในครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำ หากต้องการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพายุแม่เหล็กโลก สามารถติดตามได้ผ่านทาง

เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
https://www.facebook.com/NARITpage


ที่มาข้อมูล : ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ที่มารูปภาพ : AFP

แท็กบทความ

พายุแม่เหล็กโลก
ดวงอาทิตย์ปล่อย CMEs
ผลกระทบระบบไฟฟ้า
แสงออโรรา
พายุแม่เหล็กรุนแรง