
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หลังดัชนีตลาดทุนไทยปรับลดลง จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ทั้งจากความไม่แน่นอนนโยบายภาษีการค้าของประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ บวกแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลง และธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นธุรกิจเดิม ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ อย่างการพัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนยังมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล อาทิ หุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ,บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เป็นต้น ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นและไม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
จากภาวะดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้หารือกันในเบื้องต้นกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และจากการไปศึกษาโครงการของประเทศญี่ปุ่นที่มีบัญชีออมทรัพย์ส่วนบุคคลของญี่ปุ่น หรือ Nippon individual savings account (NISA) ที่ให้ลงทุนได้สูงสุดประมาณ 6 ล้านเยน (ราว 1.3 ล้านบาท) สำหรับการซื้อหุ้นระยะยาวเพื่อการเกษียณโดยไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีแนวคิดจะเสนอโครงการการออมหุ้นระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ ให้ผู้ลงทุนได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ( Thailand Individual Savings Accounts หรือ TISA) โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีทุกปีที่ซื้อหุ้นเก็บระยะยาวเพื่อเกษียณ ไม่ใช่ซื้อขายระยะสั้น ให้สิทธิคล้ายๆ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long–Term Equity Fund :LTF) เพียงแต่ลงทุนได้เองไม่ต้องผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

สรุปข่าว
โดยจะเน้นให้คนที่เสียภาษีในปัจจุบันที่มีประมาณ 10 ล้านคนได้ลงทุนหุ้นในระยะยาว เพื่อการเกษียณอายุได้สิทธิลดหย่อนภาษีทุกปีที่สะสมการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงนี้มีมีหุ้นดีแต่ราคาถูกจำนวนมาก แต่รายละเอียดของวงเงินหรือเพดานการให้ซื้อจะเป็นอย่างไร จะได้ลดหย่อนภาษีอย่างไร ให้ถึงอายุเทาไหร่ หรือกระทบรายได้ทางภาษีอย่างไรต้องรอรายละเอียดหลังคณะทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเข้าหารือกับกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้ คาดว่าในเดือนมี.ค.นี้น่าจะได้รายละเอียดความคืบหน้าออกมาบ้าง ซึ่งจะได้มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณการซื้อขายใยตลาดหุ้นไทยอีกทาง
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการเพิ่มเติมในการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมโดยจะรวบรวม พัฒนากฎหมายตลาดทุน (Omnibus Law for Capital Market) เพื่อปรับปรุงกฏหมายที่เกียวข้องกับกฎหมายหลายๆฉบับพร้อมกัน ( Regulatory Guillotine) เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุน เพื่อดึงดูดความสนใจนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้น การจัดให้มีโครงสร้างหุ้นสองระดับ (Dual-Class Shares) หรือ การแบ่งหุ้นสามัญออกเป็นสองชนิด เป็นต้น
รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นในูรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และดำเนินร่วมกับบีโอไอในการสนับสนุนแนวคิดการลงทุนในเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เพื่อสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ใหม่
ที่จะสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ ผลักดันไทยสู่ศูนย์รวมในการระดมทุนของบริษัทในภูมิภาค( Regional Listing Hub ) ทั้งนี้ ในการแนวคิดที่จะเสนอปรับปรุงกฏหมายครั้งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ (พ.ร.บ.) ปัจจุบันประมาณ 3-4 ฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อจะเสนอให้เป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้นำมาบังคับใช้ใได้เร็วขึ้น โดยได้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เสนอหลักการกับทางภาครัฐไปในเบื้องต้นแล้ว และจะให้คณะทำงานเสนอรายละเอียดกลับไปนำเสนออีกครั้ง ซึ่งตั้งใจจะให้แล้วเสร็จภายใน 3- 6 เดือนจากนี้
ควบคู่กับการเร่งดำเนินการมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำอยู่ อย่าง โครงการการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.)ให้กำไรเติบโตและน่าสนใจลงทุนมากขึ้น หรือ Jump+ ที่จะสนับสนุนศักภาพในการเพิ่มมูลค่าของบจ. ทั้งการวิเคราะห์งบการเงิน จ้างที่ปรึกษา การอบรม การให้สิทธิพิเศษจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นของบจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) มาดำเนินการให้เร็วขึ้น
รวมทั้งมาตรการ Treasury Stock Buyback ที่จะลดข้อจำกัดด้านกระบวนการซื้อหุ้นคืน เพิ่มความยืดหยุ่นในวิธีการจำหน่ายหุ้น เช่น ขยายเพดานการซื้อหุ้นคืน จากปัจจุบันที่เกณฑ์กำหนดให้ซื้อคืนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นตัวนั้นๆ เพื่อให้เจ้าของได้นำเงินของบริษัทมาซื้อหุ้นคืนได้ หากเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกวามูลค่า ซึ่งในปกติทุกปีจะมีบริษัทแสดงความสนใจซื้อหุ้นคืนประมาณ 15 บริษัทต่อปี , ลดเงื่อนไขหรือภาระภาษีในการแยกธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น ( Spin-Off) ,ปรับเกณฑ์การทำคำเสนอซื้อหุ้นต่อผู้ถือหุ้นทั่วไป (Tender Offer) ให้สะดวกขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจัดโครงสร้างและการควบรวบธุรกิจ ทั้งหมดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาลงทุนตลาดทุนไทย มีส่วนชวยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปด้วย
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มารูปภาพ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย