อาเซียน กลุ่มที่โดนหนักสุดในโลก ?
กับการขึ้นภาษีครั้งใหม่ ครั้งใหญ่ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ
ไทยเราโดนไป 36 % แต่ที่หนักกว่า คือ กัมพูชา 49 % ตามด้วยลาว 48 % เวียดนาม 46 %
ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ขึ้นภาษีเหล่านี้โดยย้ำว่า
ต้องการเอาคืนทุกชาติที่เกินดุลการค้ากับอเมริกา และอาเซียนก็เป็นกลุ่มหลักในนั้น
และนี่คือแรงกระแทกครั้งประวัติศาสตร์ที่จะมากระทบเศรษฐกิจของพวกเรา
ภาษีสินค้านำเข้าไปยังสหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นมาล่าสุด ที่เรียกกันง่ายๆว่าภาษีตอบโต้
หรือ Reciprocal Tariffs หรือภาษีแบบต่างตอบแทน
ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เจาะจงเป็นพิเศษกับประเทศที่เกินดุลการค้า
โดย 10 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โดยภาษีดังนี้
กัมพูชา 49%
ลาว 48%
เวียดนาม 46%
เมียนมา 44%
ไทย 36%
อินโดนีเซีย 32%
มาเลเซีย 24%
บรูไน 24%
ฟิลิปปินส์ 17%
สิงคโปร์ 10%
สรุปข่าว
ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า
อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงระดับต้น ๆ ของโลก
โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMVประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม Reciprocal tariffs ยกเว้นการบังคับใช้กับสินค้าบางประเภท
ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ ยารักษาโรค ไม้แปรรูป ทองแดง ทองคำแท่ง
และยกเว้นให้กับสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 อย่างเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วน ปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าที่ 25%
Reciprocal Tariffs ภาษีครั้งนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอาเซียน
เนื่องจากเราพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เวียดนามและกัมพูชาเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงที่สุด
ทั้งนี้ หากเวียดนามเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ
เวียดนามอาจไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากเหมือนที่ผ่านมา และการส่งออกคาดหดตัว
กระทบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ รองเท้า
เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เวียดนามเคยเป็นผู้ได้รับอานิสงส์หลักจากสงครามการค้าอาจจะลดน้อยลงไป
แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คาดยังพอมีศักยภาพดึงดูดเม็ดเงินลงทุน
เนื่องจากมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% เท่ากันทั่วโลก
คาดการณ์ว่าการส่งออกเวียดนามปีนี้ จะหดตัวลงมาอยู่ที่ -4.5% จากประมาณการเดิมที่ 12.0%
แต่อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็พยายามสุดกำลัง และเป็นชาติแรกๆด้วยซ้ำที่เดินหน้าเจรจาเข้าหาสหรัฐฯก่อนประกาศภาษี
ความคืบหน้าการเจรจากับสหรัฐ ฯ ล่าสุด ณ วันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา
รัฐบาลเวียดนามขอให้สหรัฐ ฯ เลื่อนการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ออกไปก่อน เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาการค้า
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เวียดนามได้ประกาศลดภาษีนำเข้ารถยนต์ ก๊าซ LNG เอทานอล
และสินค้าเกษตรหลายรายการ เช่น แอปเปิล อัลมอนด์ เชอร์รี่
อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามยังให้คำมั่นจะนำเข้า เครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติ สินค้าไฮเทค และสินค้าเกษตรจากสหรัฐ
จึงเป็นการแสดงความร่วมมือในการแก้ปัญหาสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาเวียดนามเกินดุลสูงสุดกับสหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือมากถึง
123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.2 ล้านล้านบาท)
เป็นรองแค่จีน สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโกเท่านั้น
ขณะที่กัมพูชาซึ่งโดนขึ้นภาษีครั้งนี้มากที่สุดในอาเซียน คือ เก็บเพิ่มถึง 49 %
แน่นอนว่าหากแก้ไขไม่ทัน จะทำให้การส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักติดลบอย่างหนัก
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพผลกระทบของกัมพูชา จาก Reciprocal tariffs
ชี้ว่าเสี่ยงกระทบการลงทุนกัมพูชาอย่างมาก เนื่องจากการพึ่งพาทุนจีนในระดับสูง และการส่งออกคาดหดตัว
กระทบอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าสำหรับการเดินทาง
เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่พึ่งพาทุนจีนมากกว่า 50% อีกทั้งการสิ้นสุดของสิทธิประโยชน์ทางการค้าในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
(Least Developed Country: LDC) ในปี 2029 ก็ทำให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศในกัมพูชาไม่ค่อยดีนักอยู่แล้ว
และเมื่อโดนภาษีจากสหรัฐฯ รีดเพิ่มขึ้นอีก 49% ยิ่งส่งผลให้กัมพูชามีความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงิน FDI
หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้น้อยลง
การส่งออกกัมพูชา ปีนี้ คาดว่าจะหดตัวมาอยู่ที่ -5.3% จากประมาณการเดิมที่ 11.9%
ส่วนความคืบหน้าการเจรจากับสหรัฐฯ ของรัฐบาลกัมพูชา ล่าสุด ณ วันที่ 3 เมษายน 2568
กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาไม่เห็นด้วยกับ reciprocal tariff 49% โดยชี้แจ้งว่ากัมพูชามีอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เฉลี่ยที่ 29.4%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากำลังหาช่องทางเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า Reciprocal Tariffs คาดส่งผลกระทบเชิงลบ
ต่อ GDP เวียดนามที่ 1.5% และกัมพูชา1.4%
และจะส่งผลต่อศักยภาพในสถานะฐานการผลิตของเวียดนามและกัมพูชาค่อนข้างมาก
และอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงในระยะยาวได้
ส่วนสองประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด คือ สปป.ลาว 0.8% และอินโดนีเซีย 0.6%
ผลกระทบต่ออินโดนีเซียมีจำกัด เนื่องจากประเทศเป็นตลาดใหญ่พึ่งพาการส่งออกน้อย
และมีแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง จึงยังเป็นแต้มต่อในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ในระยะยาว
ส่วนสปป.ลาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก
ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ต้องกังวลอยู่ในกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า กาแฟ
แต่อย่างไรก็ดี สปป.ลาว ยังมีแรงดึงดูดในการลงทุนการผลิตพลังงานทางเลือก
การผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรเพี่อส่งกลับไปสนับสนุนการบริโภคของจีนและประเทศใกล้เคียง
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยส่งออกไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชาและสปป.ลาว
รวมมูลค่าส่งออก 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
การที่เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนชะลอตัวอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวได้
ส่วนบ้านเรา ประเทศไทย เอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้
จะกระทบไปยังมูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้ ที่ 1 หมื่น 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาท
แต่ตัวเลขดังกล่าว อาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐ
ที่มารูปภาพ : TNN