ย้อนอดีต "ราคาทองคำ" สู่ New All Time High ภายใต้ "ภาษีสหรัฐฯ"

ย้อนอดีต "ราคาทองคำ" สู่ New All Time High ภายใต้ "ภาษีสหรัฐฯ"

สรุปข่าว

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจาก "ภาษีสหรัฐฯ" ที่ไม่แน่นอน ก็ยากที่จะบอกได้ว่า "ทองคำ" จะขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทองคำอาจจะไม่ใช่ "สินทรัพย์ปลอดภัย" เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่อาจจะเผชิญกับความผันผวนรุนแรงได้ หลังจากนี้

"ทองคำ" กำลังเป็นสินทรัพย์ที่ร้อนแรงที่สุดในปัจจุบัน ราคาปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่รายวัน แต่เป็นรายชั่วโมง ราคาทองคำทำจุดสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ หรือ New All Time High เป็นว่าเล่น แค่ในปี 2568 ปีเดียวก็ทำ New All Time High ไปแล้วมากกว่า 20 ครั้ง จนราคาทองคำขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในวันที่ 22 เม.ย.2568

สรุปข่าว

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำจาก "ภาษีสหรัฐฯ" ที่ไม่แน่นอน ก็ยากที่จะบอกได้ว่า "ทองคำ" จะขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทองคำอาจจะไม่ใช่ "สินทรัพย์ปลอดภัย" เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่อาจจะเผชิญกับความผันผวนรุนแรงได้ หลังจากนี้

จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนครั้งใหญ่จากการกำหนดมาตรการ "ภาษีศุลกากรตอบโต้" ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หรือที่ใครหลาย ๆ คนตั้งชื่อเล่นให้กับมาตรการนี้ว่า "ภาษีสหรัฐฯ" หรือ "ภาษีทรัมป์" ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับระบบการค้าโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

แล้วในประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ผ่านมาของทองคำ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติ ที่ผ่านมาทองคำผ่านทุกวิกฤติมาได้อย่างไร และหลังการทำ All Time High ทุกครั้งที่ผ่านมา ราคาทองคำจะมีทิศทางเป็นอย่างไร

"ทองคำ" สินทรัพย์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานก่อนคริสตกาล แต่ก็ยากที่จะสรุปว่ามนุษย์เรารู้จัก หรือใช้ทองคำในการเป็นสินทรัพย์ แลกเปลี่ยนกันตั้งแต่ตอนไหน บางตำราก็บอกว่าเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว 6,000 ปีที่แล้ว บ้างก็ว่ากันว่าทองคำมีประวัติศาสตร์ยาวนานมามากกว่า "40,000 ปี" ก็มี เอาเป็นว่าเรามาดูกันเฉพาะบทบาทของทองคำกับระบบเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่

ทองคำเริ่มมีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่เริ่มต้นค.ศ.1800 ที่สหราชอาณาจักรได้เริ่มผูกค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงไว้กับปริมาณทองคำ เกิดเป็นระบบมาตรฐานทองคำ Gold Standard ที่เงินตราทั่วโลกผูกติดกับทองคำ ทำให้ทองคำเลยกลายเป็น backbone หรือกระดูกสันหลังของระบบการเงินมานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งทองคำก็มีเสถียรภาพมาอย่างยาวนานตลอดเวลาเกือบร้อยปี จนกระทั่งในปี 1971 ‘ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน’ ประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ ถือเป็นจุดสิ้นสุด ของ Gold Standard แต่ความสำคัญของทองคำก็ไม่ได้ลดลงไป ราคาทองคำกลับพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอีกเกือบ 10 ปี

ท่ามกลางวิกฤติ “The Great Inflation” เหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดเงินเฟ้อถึง 13.5% และวิกฤติสงคราม “Yom Kippur”หรือ ยมคิปปูร์

ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับอย่างซีเรีย และอียิปต์ จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวพุ่งขึ้นถึง 3 เท่า และทุกอย่างก็กลับรุนแรงขึ้นไปอีกในปี 1979 วิกฤติน้ำมัน และ Stagflation ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ในยุคที่มีการปฏิวัติในประเทศอิหร่าน ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันลดลง และราคาน้ำมันดิบก็พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่า

ซึ่งจากวิกฤตการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี ราคาทองคำก็ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ครั้งแรกในเดือนมกราคม 1980 ที่ 875 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ จนเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญจากการเข้ามาของ Paul Volcker ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คนใหม่ที่ใช้ยาแรง เพื่อควบคุมปริมาณเงินที่ล้นอยู่ในระบบให้น้อยลง โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายเคยขึ้นไปสูงถึง 20% ในปี 1980 ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาเหลือเพียง 6% เท่านั้น

แต่ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ สิ่งที่ต้องแลกมานั่นก็คือ เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น โดยในปี 1982 GDP ติดลบ 1.8% อัตราการว่างงานก็สูงถึง 9% และ 11% ในปีต่อมา และหลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 5% ตลอดมา นับเป็นการสิ้นสุดยุคของ “The Great Inflation” ในที่สุด

และนั่นก็เป็นจุดสูงสุดของราคาทองคำโลกในยุด 1980 เพราะหลังจากนั้น ทองคำก็เข้าสู่ยุคที่ "ถูกลืม" หรือ "Lost Decade" ยาวนานกว่า 20 ปี โดยราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนทำจุดต่ำสุด หรือ New Low แรกที่ 281 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1985 และถึงแม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่เคยใกล้เคียงกับระดับจุดสูงสุดเดิมอีกเลย

แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจาก "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในปี 1997 รุกลามทั่วเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF จำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือ และแก้ปัญหาหนี้สินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ IMF เทขายทองคำออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศทยอยขายทองคำตาม ทำให้กดดันราคาทองคำดิ่งลงสู่จุดต่ำสุดใหม่อีกครั้งที่ 252 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในเดือนสิงหาคม 1999  และหลังจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ทองคำกลับมามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

หลังจากนับถอยหลังเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ในปี 2000 ราคาทองก็เข้าสู่ช่วงยุคทองสมชื่อ ไม่กลับไปสัมผัสจุดต่ำสุดเดิมอีกเลย จากจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 และจนกระทั่งการก่อตั้ง SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2004 ราคาทองคำก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2008 ด้วยราคา 1,035 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ก่อนจะใช้เวลาเพียง 5 เดือนที่ราคาไหลลงมาอยู่ที่ 681 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน หรือลดลงมากกว่า 34%

ท่ามกลางวิกฤต "ซับไพรม์" หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ที่เกิดจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาเกิด "ฟองสบู่แตก" เกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ และเกิดวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพขั้นรุนแรง หลังจากนั้นราคาทองคำก็กลับมาเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัวอีกครั้ง

จนกระทั่งการเกิดวิกฤตหนี้ยุโรปในปี 2011 โดยเฉพาะประเทศกรีซที่เกือบจะล้มละลาย เงินสกุลยูโรขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง ประกอบกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านนโยบาย "ผ่อนคลายเชิงปริมาณ" หรือ Quantitative Easing หรือการทำ QE ที่เราคุ้นหูกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยิ่งทำให้ความต้องการทองคำพุ่งขึ้น และกลายเป็นหลุมหลบภัยจากความเสี่ยงของระบบการเงิน และความกลัวเงินเฟ้อที่อาจตามมาจากการพิมพ์เงินจำนวนมหาศาล

ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2011 ที่ 1,920 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ก่อนจะสิ้นสุดยุค QE ในปี 2013 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯจะยกเลิกการทำ QE นักลงทุนจำนวนมากได้ทยอยเทขายทองคำออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2012 จนกดดันราคาทองคำให้มีความผันผวนต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ปี จนราคาทองคำมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,046 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ หรือลดลงมากกว่า 45% ในเดือนธันวาคม 2015

และหลังจากนั้นเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นลงเพียงเล็กน้อยแทบไม่ไปไหน ในกรอบ 1,112 ถึง 1,311 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ จนกระทั่งเราได้ทำความรู้จักกับ "Covid-19" วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในปี 2019 ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งชีวิตความเป็นอยู่ และกระทบกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความต้องการถือครองวทองคำในฐานะ "สินทรัพย์ปลอดภัย" ทำให้เกิดแรงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 จนถึงเดือนสิงหาคม 2020 จนราคาทองพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 2,075 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 80% ในระยะเวลาเพียง 15 เดือนเท่านั้น

และเมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจโลกก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกครั้งจากความรุนแรงของสงครามยูเครน และรัสเซียที่เริ่มปะทุรุนแรงขึ้นในปี 2022 และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสในปาเลสไตน์เปิดฉากยิงจรวดหลายพันลูกใส่อิสราเอลโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า หลังจากนั้นราคาทองก็แรลลี่เข้าสู่โหมด "กระทิงทองคำ" อย่างแท้จริง

ราคาทองปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,632 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในเดือนตุลาคม 2022 จนมาทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 2,790 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อทรอยออนซ์ ในเดือนตุลาคม 2024 ซึ่งในปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และอิสราเอลกับฮามาส ก็ยังคงดำเนินต่อไป

ราคาทองคำได้หยุดพักความร้องแรงเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้นในรอบ 3 ปี ก็ถึงคิวของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 60 ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 โดยผลออกมาที่ชัยชนะของ "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน ที่มีเหนือ "กมลา แฮริส" จากพรรเดโมแครต และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางของราคาทองคำครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

ความร้อนแรงของราคาทองคำหลังจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร ก็คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้ที่ผ่านมาราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ขึ้นไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่กลับลงมาที่ราคาเดิม แต่จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯที่ไม่มีความแน่นอน ก็ยากที่จะบอกได้ว่า "ทองคำ" จะขึ้นต่อไปอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อจากนี้ ทองคำอาจจะไม่ใช่ "สินทรัพย์ปลอดภัย" เหมือนอย่างที่ผ่านมา แต่อาจจะเผชิญกับความผันผวนรุนแรงได้ หลังจากนี้

ที่มาข้อมูล : Trading View

ที่มารูปภาพ : TNN

แท็กบทความ

ภาษีสหรัฐฯสงครามการค้าราคาทอง
วิกฤติต้มยำกุ้ง
วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์