
ช่วงนี้เชื่อว่า ใครหลาย ๆ คนที่เล่นโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม หรือกระทั่งไลน์กลุ่มครอบครัว คงเคยเห็นภาพที่สร้างโดย AI เป็นภาพการ์ตูน เป็นภาพโมเดล แต่จริง ๆ แล้ว การใช้ AI สร้างภาพเป็นสิ่งที่น่ากังวลไม่น้อย จากการใช้รูปภาพที่มีลิขสิทธิ์แบบฟรี ๆ มาพัฒนาเป็นภาพการ์ตูนออกมาให้พวกเรา นอกจากนี้ยังใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะอีกด้วย
ศาสตราจารย์จีนา เนฟฟ์ จากมหาวิทยาลัยควีนแมรี ลอนดอนระบุว่า ศูนย์ข้อมูลของ ChatGPT ที่สร้างภาพ AI ออกมา ใช้พลังงานไฟฟ้าต่อปีมากกว่าอีก 117 ประเทศทั่วโลก ฉะนั้นหากจะบอกว่า ภาพ หรือคอนเทนต์จาก AI ได้มาฟรี ๆ คงจะไม่จริงเพราะเราสูญเสียพลังงานไฟฟ้าไปเยอะมาก และที่เราคิดว่า ภาพ AI สวย และได้มาฟรี ๆ อาจเพราะมันเอาเปรียบใครคนอื่นที่เราไม่รู้อยู่หรือไม่ ?

สรุปข่าว
ข้อมูล หรือรูปภาพที่นำมาสร้างเป็นภาพ AI มาจากภาพต่าง ๆ ที่มีบนอินเทอร์เน็ต โดยที่เราไม่รู้เลยว่า พวกเขานำรูปของใครมาบ้าง ติดเรื่องลิขสิทธ์ไหม ได้ขออนุญาตก่อนหรือไม่ และแน่นอน ได้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของภาพหรือไม่
ศาสตรจารย์เนฟฟ์ ระบุว่า ChatGPT Barbie เป็นภัยคุกคามสามประการต่อความเป็นส่วนตัว วัฒนธรรม และโลกของเรา แม้ว่าการปรับแต่งให้เหมือนตัวเองอาจดูดี แต่ระบบเหล่านี้กำลังนำแบรนด์และตัวละครมาผสมรวมกันโดยที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ไม่ดีที่อาจเกิดขึ้น
โจ บรอมมิโลว์ ผู้อำนวยการฝ่ายโซเชียลและผู้มีอิทธิพลที่เอเจนซี่ประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟ MSL UK ตั้งข้อสังเกตว่า ผลลัพธ์ที่น่ารักและตลกนั้นคุ้มค่าจริงหรือ ถ้าเราต้องการใช้ AI อย่างเหมาะสมจริง ๆ เราก็ต้องกำหนดแนวทางป้องกันไว้ว่าเราจะใช้มันอย่างมีสติอย่างไร
ที่มาข้อมูล : BBC
ที่มารูปภาพ : BBC, ChatGPT

ณัฐณิชา นิจผล