เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรเปิด “ถนนจรวด” พร้อมมาตรการสนับสนุนเพียบ (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

ผลจากการดำเนินงานอย่างชัดเจน เป็นระบบ และต่อเนื่อง ก็ทำให้ปักกิ่งอีทาวน์ (Beijing E-Town) ได้สร้างสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องมากมายในช่วงหลายปีหลัง โดยได้ดึงดูดธุรกิจการบินและอวกาศจำนวนมากกว่า 70 ราย ครอบคลุมถึง 75% ของกิจการประกอบและผลิตจรวดเอกชนของจีนเลยทีเดียว 


รายงานของ Taibo Intelligence Unit ประเมินว่า ช่วงปี 2023-2028 จะถือเป็น “ยุคทอง” ของการพัฒนาภาคอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีน โดยคาดว่าในเชิงมูลค่า ขนาดตลาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จากราว 2.4 ล้านล้านหยวนในปี 2023 เป็นถึง 5.4 ล้านล้านหยวนในปี 2028 


ในส่วนของโครงการ “ถนนจรวด” ก็ถูกออกแบบเพื่อสร้างศูนย์กลางการวิจัยและการผลิตทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติ และสนับสนุนการพัฒนาอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โมเดล และการประยุกต์ใช้ด้านอวกาศ เช่น อุปกรณ์ภาคพื้นดิน จรวดนำส่ง และดาวเทียม 


รวมทั้งการสร้างเวทีกลางที่ใช้ร่วมกันสําหรับการวิจัยและพัฒนา การทดสอบ และการผลิตจรวดและดาวเทียม เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้ข้อมูลอวกาศอย่างแพร่หลาย และสนับสนุนองค์กรการบินและอวกาศเชิงพาณิชย์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและแอปใหม่ๆ


ในเชิงภูมิศาสตร์ ถนนจรวดตั้งอยู่ในย่านอี้จวง (Yizhuang) เขตต้าซิง (Daxing) เลยวงแหวนรอบที่ 5 ด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่งไปเล็กน้อย โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 140,000 ตารางเมตรหรือเกือบ 88 ไร่ 


ภายใต้แนวคิดของโครงการในเชิงพาณิชย์ ภาคเอกชนถูกคาดหมายว่าจะมีบทบาทในระดับที่สูง ทั้งนี้ รายงานหนึ่งระบุว่า นับแต่ปี 2015 ตลาดอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 20% 


โดยในปี 2023 จรวดภาคเอกชนของจีนถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ 13 ครั้ง โดยมีสัดส่วนคิดเป็นราว 20% ของภารกิจการปล่อยจรวดทั้งหมดของจีน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ 

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกโครงการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จทั้งหมด แต่รัฐบาลจีนไม่ปล่อยให้ความล้มเหลวเหล่านั้นไปหยุดยั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์โดยรวม 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างไม่ย่อท้อ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศเดินหน้ากําหนดมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม “อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม” และสนับสนุนโครงการเปิดตัวเชิงพาณิชย์กว่า 40 โครงการโดยมีเงินทุนกว่า 100 ล้านหยวน


ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นจรวด ดาวเทียม และ สถานที่ปล่อยจรวด ผสมโรงกับการเร่งผลักดันการวิจัยและพัฒนา แหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ แหล่งเงินทุนในรูปแบบของ “กลไกตลาด” และอื่นๆ ก็ทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมฯ ของจีนที่เดิมเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลายปีหลัง รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว 


จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดว่า ภายหลังการเปิดตัวโครงการ “ถนนจรวด” ดังกล่าว ผู้รับผิดชอบโครงการก็ฉายภาพหน้าตาและทิศทางแนวโน้มของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกกันยกใหญ่ อาทิ การจำแนกเป็นพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการผลิตระดับไฮเอนด์ รวมทั้งยังจะมีห้องนิทรรศการเชิงโต้ตอบสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมอบประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้มาเยี่ยมชม 


ขณะเดียวกัน องค์กรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ “รับลูก” ทยอยประกาศโครงการย่อยของตนเองโดยลำดับ อาทิ บริษัทไชน่าร็อกเก็ต (China Rocket Co) เปิดเผยถึงจรวดปล่อยยานอวกาศขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง “Jielong-3” หรือ “มังกรอัจฉริยะ 3” ที่ส่งดาวเทียม 9 ดวงขึ้นสู่วงโคจรโลก


ขณะที่จี๋ลี่ (Geely) ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนก็เปิดตัวดาวเทียม 11 ดวงที่เตรียมส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในระบบการนําทางที่แม่นยํายิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ สเปซไพโอเนียร์ (Space Pioneer) ยังตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ “ถนนจรวด” ที่วางเป้าเป็นศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีจรวดที่นํากลับมาใช้ใหม่ ประกาศเตรียมปล่อยจรวดที่ใช้ซ้ำขนาดใหญ่อย่าง “Falcon 9 Equivalent” รุ่น TL-3 จำนวน 3 ครั้ง 


เพียงไม่นานหลังจากนั้น ผมก็พบข่าวความสำเร็จในการปล่อยเที่ยวบินแรกของสเปซไพโอเนียร์เมื่อเดือนกรกฏาคม 2024 ณ จุดปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหวินชาง (Wenchang) มณฑลไฮ่หนาน 


ทั้งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของมณฑลไฮ่หนานที่อยู่ใต้สุดของจีน ฐานปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรที่มีละติจูดต่ำ ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและเพ่ามประสิทธิภาพในการปล่อยจรวด


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนจะปล่อยจรวดจากฐานปล่อยจรวดดังกล่าวอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2025 โดยจะนำดาวเทียม 18 ดวง และอีก 36 ดวงขึ้นสู่วงโคจร ตามลำดับ 


นอกจากมิติในเชิงพาณิชย์แล้ว โครงการนี้ยังโดดเด่นในเรื่อง “การกระจายตัวอย่างบูรณาการ” ระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งพันธมิตรอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา และสหกรณ์ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินนโยบายการพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวรุดหน้า เกิดเป็นรูปธรรม และประสบความสําเร็จโดยลำดับ 


นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่า ถนนจรวดกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมฯ นี้ของจีน โดยจะเป็นเมืองแรกของจีนที่บรรลุความสามารถในการปล่อยจรวดที่มีต้นทุนต่ำและเชื่อถือได้สูง การกู้คืนจรวด การปล่อยดาวเทียมและกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ และการปล่อยจรวดที่นํากลับมาใช้ใหม่ได้


โดยคาดว่าถนนจรวดแห่งนี้จะดึงดูดองค์กรไฮเทคมากกว่า 100 แห่ง องค์กรเฉพาะทาง 50 แห่ง บริษัทยูนิคอร์น (Unicorn) 5 แห่ง และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 5 แห่ง นั่นเท่ากับว่า ถนนจรวดจะพัฒนาเป็น “คลัสเตอร์นวัตกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์” ที่มีองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายพันแห่งและกำกับดูแลดาวเทียมหลายพันดวงในวงโคจรโลก


ในแง่ของ “การกระจายตัว” ของโครงการนี้ ผมสังเกตเห็นรัฐบาลระดับมณฑล/มหานครของจีนหลายแห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ หูหนาน และเสฉวน ได้พร้อมใจกันออกแบบและกำหนด “แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์” ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมุ่งหวังจะสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ของจีนไปสู่เส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็ว


ในประเด็นนี้ เซี่ยงไฮ้นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์ในระดับท้องถิ่น โดยตามแผนปฏิบัติการ 3 ปี (ปี 2024-2026) ของเซี่ยงไฮ้ที่เผยแพร่เป็นครั้งแรก

เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ระบุว่า การบินและอวกาศเชิงพาณิชย์นับเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่นานาประเทศจะต้องแข่งขันกันในยุคหน้า และเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของกำลังการผลิตคุณภาพสูงใหม่ (New-Quality Productive Forces) 


เซี่ยงไฮ้จะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด เราไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...



ภาพจาก AFP


ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :