

สรุปข่าว
ท่านผู้อ่านที่สนใจอาจหาเวลาไปส่องธุรกิจด้านการเกษตร เยี่ยมชมงานแสดงสินค้า หรือเข้าร่วมฟอรั่มด้านการเกษตรในเชิงลึกและเชิงกว้างที่จีนกันบ้างก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแสดงสินค้าของหัวเมืองใหญ่หรืองานแสดงสินค้าประจำมณฑลที่ต่างนําเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ และผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาประชันโฉมกันอย่างคึกคัก ...
ในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมเหล่านี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรจำนวนมากมีขนาดเล็กลงอย่างถนัดใจจากรุ่นแรกที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้เครื่องซักผ้าเหลือขนาดเท่าแท็บเล็ตในปัจจุบัน แถมยังมีราคาที่จับต้องได้และสะดวกต่อการใช้งาน จึงนับว่าวงการได้รับประโยชน์อย่างมากจากความก้าวหน้าของสิ่งอํานวยความสะดวกทางการเกษตร
ในช่วงหลายปีหลัง จีนนับว่าเป็นแหล่ง “รวมศูนย์” ของงานแสดงสินค้าและงานประชุมชั้นนำของโลกที่สามารถดึงดูดความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าเยี่ยมชมงาน ยกตัวอย่างเช่น งาน China Yangling Agricultural High-tech Fair ในมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นพื้นที่การเพาะปลูกข้าวสาลีสำคัญของจีน
โดยตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา งานแสดงสินค้านี้ได้นําเสนอนวัตกรรมทางการเกษตรที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตผ่านเทคโนโลยีและโปรแกรมมากกว่า 190,000 รายการต่อหน้าผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 33 ล้านคนจากหลายพื้นที่ของจีนและต่างประเทศ
ความรุดหน้าของงานแสดงสินค้านี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงของหยางหลิง (Yanling) ที่ปรับเปลี่ยน “พื้นที่ชนบท” ของเมืองเล็กๆ ในมณฑลส่านซีเป็น “เมืองวิทยาศาสตร์การเกษตร” ที่มีชื่อเสียงของจีน
ในปี 1997 เมืองนี้ยังพัฒนาเป็น “เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคด้านการเกษตร” แห่งแรกของจีน และราว 20 ปีต่อมา พื้นที่ย่านนี้ถูกกําหนดให้เป็นเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) ที่เน้นการเกษตรแห่งแรกของจีน
นอกจากนี้ ในปี 2019 พื้นที่นี้ยังถูกก่อตั้งเป็นฐานการเกษตรสําหรับ “องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” (Shanghai Cooperation Organization) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคยูเรเซีย (Eurasia) อีกด้วย
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงอยากทราบแล้วว่ามีนวัตกรรมอะไรดีๆ ซ่อนอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น แบบจําลองดิจิตัลของระบบชลประทานที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ ระบบได้ช่วยลดการใช้น้ำเพื่อการเกษตรราว 18 ล้านลูกบาศก์เมตร แถมยังลดการใช้ไฟฟ้าถึง 20 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
เรนเธค (Raintech) สตาร์ทอัพด้านการเกษตรในปักกิ่ง ก็จัดแสดงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรอัจฉริยะ และสถานีอุตุนิยมวิทยาขนาดเล็กที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ความเร็วสูงสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมเรือนกระจกและส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังสมาร์ตโฟน ทำให้เกษตรกรสามารถติดตามระดับอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มของแสง และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างใกล้ชิด
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการใช้อัลกอริธึมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ระบบสามารถทํานายอุณหภูมิในตอนกลางคืนและแจ้งเตือนเกษตรกรถึงความเสียหายจากน้ำค้างแข็งที่อาจเกิดขึ้น
รวมทั้งยังถูกใช้ควบคู่ไปกับอุปกรณ์เสริมอื่นที่มุ่งเป้าไปที่การควบคุมสภาพแวดล้อมเรือนกระจกโดยอัตโนมัติ เทคโนโลยีการควบคุมแสงสว่างและอุณหภูมิที่เข้มงวดทั้งกลางวันและกลางคืนมีความสําคัญอย่างมากต่อการผลิตพืชผักที่มีความอ่อนไหวมาก
การแพร่กระจายของเทคโนโลยีอัจฉริยะดังกล่าวสะท้อนถึงศักยภาพด้านผลผลิตของนวัตกรรมการทําฟาร์มรุ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี และยังเป็น “ต้นแบบ” ให้เกษตรกรในประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง
อีกงานหนึ่งที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้และน่าสนใจมากในมุมมองของผมก็คือ งานประชุม “World AgriFood Innovation” (WAFI) ซึ่งเป็นงานประชุมระดับโลกที่มุ่งเน้น “นวัตกรรมการเกษตร” ที่ทันสมัยในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเกษตรโลก
โดยเป็นเวทีที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการมีปฏิสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องใน “ระบบนิเวศ” อาทิ อุตสาหกรรม สตาร์ตอัพ นักวิชาการ นวัตกร นักลงทุน ผู้แทนภาครัฐ และผลงานวิจัย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็น “ดาวอสของการเกษตร” (Davos of Agriculture)
การประชุม WAFI 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ เขตผิงกู่ กรุงปักกิ่ง ที่ซึ่งกลุ่มธุรกิจเครือซีพีเปิดตัวโครงการฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัวเมื่อหลายปีก่อนจนเป็นโมเดลธุรกิจที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งและกระจายในหลายมณฑลของจีนในปัจจุบัน
กลับมาที่ WAFI 2024 การประชุมในครั้งนี้มีแนวคิดหลักอยู่ที่ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบอาหารเกษตร” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาและความท้าทายสำคัญของโลก
แน่นอนว่า เกษตรกรรมของจีนไม่ได้มีข้อยกเว้น เกษตรกรจีนหลายร้อยรายต่างต้องเผชิญกับ “ความท้าทาย” ที่รุนแรงมากขึ้นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพายุ ภัยแล้ง อุทกภัย และคลื่นความร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร บั่นทอนห่วงโซ่อุปทานอาหาร คุกคามความมั่นคงด้านอาหาร และนําไปสู่ราคาอาหารหลักที่สูงขึ้น
การเป็นเจ้าภาพการประชุมของจีนในครั้งนี้ตอกย้ำว่า จีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหารโลกและมุ่งมั่นที่จะนำเอาการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและความร่วมมือทั้งภายในและระหว่างประเทศมาช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงไม่ใช่ “เรื่องเล็ก” อย่างแน่นอน
ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากรที่มีอยู่และการดำเนินนโยบายการต่างประเทศผ่าน BRI และ Global South รวมทั้งความร่วมมือกับสถาบันระหว่างประเทศ เช่น Consultative Group on International Agricultural Research ซึ่งเป็นเครือข่ายนวัตกรรมด้านการเกษตรระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนมีโอกาสดีที่จะผลักดันให้ “ความฝัน” นี้เกิดเป็นรูปธรรม
อันที่จริง หากมองย้อนกลับไปก็ต้องถือว่าจีน “มองไกล” มากที่ใช้หลายหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตรแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences) ไปร่วมมือกับ CGIAR อย่างเป็นทางการนับแต่ปี 1984 (หลังจากเปิดประเทศสู่ภายนอกไม่ถึงทศวรรษ) และนําไปสู่ความก้าวหน้าทางการเกษตรอย่างมีนัยสําคัญในหลายสิบปีต่อมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดผ่านการพัฒนาพันธุกรรมที่ทนต่อโรค ความแห้งแล้ง และอื่นๆ การลงทุนใน R&D การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร และการต่อยอดเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสภาพอากาศ รวมทั้งการจัดการฟาร์มที่ยั่งยืน เช่น การไถพรวน (แทนการเผา) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
ความก้าวหน้าดังกล่าวยังได้ถูกต่อยอดด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และนวัตกรรมอื่น จนกลายเป็น “เกษตรอัจฉริยะ” ที่ชาญฉลาดต่อสภาพอากาศโลก และสร้างมาตรฐานใหม่สําหรับการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในปัจจุบัน
สิ่งดีๆ เหล่านี้นำไปสู่ผลตอบแทนทางการเกษตรที่สูงขึ้นและชีวิตความเป็นของเกษตรกรจีนที่ดีขึ้น แต่จีนก็พยายาม “เดินหน้า” ขยายผลไปยังต่างประเทศเพื่อช่วยสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นในภูมิภาคที่เปราะบาง เช่น แอฟริกา และอเมริกาใต้
แต่เมื่อทรัมป์มา ประเด็น “สงครามการค้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเกษตร ก็คาดว่ากลับมาประทุขึ้นอีกครั้ง จีนจะรับมืออย่างไร ขอไปต่อคุยกันในตอนหน้าครับ ...
ภาพจาก: AFP
ที่มาข้อมูล : -