ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ความมั่นคงด้านอาหารของจีน ... จากเชิงลบสู่เชิงบวก (ตอน 6) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

ในต้นปี 2025 โดนัลด์ ทรัมป์จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า มาตรการชุดแรกๆ ที่จะออกมาก็ได้แก่ การขึ้นอากรนำเข้าสินค้าทั่วไปและสินค้าจีน และการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร 

มาตรการเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของจีนอย่างไร และจีนจะดำเนินการอย่างไร ...

ประการแรก เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สหรัฐฯ และจีนครองตำแหน่งแชมป์ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและตลาดใหญ่ 2 อันดับแรกของโลก และความรุดหน้าด้านนวัตกรรมในช่วงหลายปีหลัง 

ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ขยายตัวมากกว่า 200 เท่า และมีบริษัทอเมริกันกว่า 70,000 รายเข้าไปลงทุนและเอาประโยชน์จากการเติบใหญ่ของตลาดจีน ขณะที่สหรัฐฯ ก็เป็นตลาดส่งออกใหญ่ของจีน และจีนก็ขยายการลงทุนเข้าไปในสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง 

พญาอินทรีและมังกรจึงเป็น “คู่เต้นรำ” ที่มีผลประโยชน์ร่วมระหว่างกัน และมีบทบาทสูงยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเจริญ และการเติบโตของการค้าและการลงทุนของโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

ในกรณีของสินค้าเกษตรยิ่งมีความน่าสนใจเพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร ขณะที่จีนเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก นั่นเท่ากับว่า จีนและสหรัฐฯ มีโอกาสมากมายในการขยายความร่วมมือทางการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง เนื้อวัว-หมู-ไก่และเครื่องใน ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวฟ่าง รวมทั้งฝ้ายและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น

หากมองย้อนกลับไปในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสําหรับสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ แต่การนําเข้ากลับมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับแต่การอุบัติของ “สงครามทางการค้า” (Trade War) สมัยทรัมป์ 1 ในปี 2018 

ในตอนนั้น สหรัฐฯ พยายามกดดันลดการนำเข้าสินค้าจีนและบีบให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจและการเมืองไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการขาดดุลทางการค้า และการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อเอาใจเกษตรกรสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของทรัมป์

แม้ว่าจีนจะมีสุภาษิตที่ว่า “หากใช้เงินจัดการได้ เรื่องเหล่านั้นก็ไม่เป็นปัญหา” แต่การณ์กลับไม่เป็นดั่งที่หลายฝ่ายคิด เพราะรัฐบาลจีนเลือกดำเนินกลยุทธ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ตอบโต้มาตรการกีดกันดังกล่าวโดยการเรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าเกษตร 

อาทิ ถั่วเหลือง เนื้อวัว เนื้อหมู ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวฟ่างจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 25% ทำเอาการส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ไปยังตลาดจีนกลับลดลง

รายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับแต่สงครามการค้าเกิดขึ้น การส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ไปยังจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 มูลค่าลดลงเหลือ 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชะลอตัวลง 20% ของปีก่อน และคาดว่าจะลดลงอีกในปี 2024

แม้ว่าอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ พยายามวิ่งหาตลาดใหม่หลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และอินเดีย แต่ก็ไม่อาจทดแทนการขาดหายไปของจีนได้อย่างสมบูรณ์ 

“ความใหญ่” ของตลาดจีนที่อยู่บนพื้นฐานของประชากรจํานวนมากและชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กอปรกับสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เน่าเสียง่ายหรือมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาที่สูง ทำให้ธุรกิจการเกษตรของสหรัฐฯ เองไม่อาจมองข้ามตลาดจีนหรือนิ่งนอนใจได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผมสังเกตเห็นบริษัทของสหรัฐฯ จำนวนมากเข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง China International Import Expo (CIIE) รวมทั้งครั้งที่ 7 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2024  ณ นครเซี่ยงไฮ้ กันอย่างหนาตา 

โดยในระยะหลัง ผมยังสังเกตเห็นว่า กิจการเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ ADM, Highland Hay International, Northwest และ Royal Ridge Fruits เข้าร่วมงานดังกล่าว

แถมหลายปีหลัง กิจการเหล่านี้ยังร่วมมือกันจัดตั้ง “พาวิลเลียนอาหารและสินค้าเกษตรอเมริกา” (American Food and Agriculture Pavilion) เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพสูงอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เชอร์รี่แห้ง เนื้อวัว สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นม ไวน์ และวิสกี้ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง

ในทางกลับกัน การดำเนินมาตรการตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ก็ทำให้จีน “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” เช่นเดียวกัน 

เพื่อมิให้ห่วงโซ่อุปทานและความมั่นคงด้านอาหารของจีนต้องสั่นคลอน และส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจมหภาค จีนจึงนำเอาเทคโนโลยีไปพัฒนาความร่วมมือกับแหล่งซัพพลายสินค้าเกษตรแห่งใหม่ อาทิ บราซิล อาร์เจนตินา และประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทดแทนการขาดหายไปของสหรัฐฯ

ผู้เชี่ยวชาญจึงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่เกิดสงครามการค้าดังกล่าว จีนและสหรัฐฯ น่าจะเป็น “แชมป์คู่เต้นรำโลก” และได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเป็นผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่สุดของโลกอย่างแน่นอน 

ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างกัน เพราะการจับมือกันอย่างสร้างสรรค์ไม่เพียงจะช่วยจัดการความผันผวนของตลาด รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ตรึงระดับราคาอาหาร และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเท่านั้น 

แต่ยังจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลกและการเกษตรที่ยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ท้าทายอีกด้วย

ตอนหน้าผมจะพาไปเจาะลึกในรายสินค้าเกษตรสำคัญที่จีนและสหรัฐฯ ค้าขายกัน และแนวโน้มผลกระทบและสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตกันครับ ...


ภาพจาก: AFP 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ความมั่นคงด้านอาหาร
จีนสินค้าเกษตร
เพาะปลูก
เกษตร