

สรุปข่าว
ประการถัดมา หากซูมลงไปในรายการสินค้าเกษตรสำคัญที่ค้าขายระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ก็จะเห็น “ผลกระทบ” ที่รุนแรงยิ่งขึ้น
ในกรณีของถั่วเหลือง อุปสงค์ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผลผลิตของจีนไม่อาจเพิ่มขึ้นได้ทันต่อความต้องการ ทำให้ความต้องการนำเข้าถั่วเหลืองของจีนทะยานในระดับ 100 ล้านตันต่อปี คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการรวมของโลก ตลาดจีนจึงกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของการค้าถั่วเหลืองโลกไปโดยปริยาย
ประการสำคัญ ในด้านหนึ่ง จีนถือเป็นลูกค้าถั่วเหลืองรายใหญ่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐฯ ก็ส่งออกถั่วเหลืองเป็นสินค้าหลักไปยังจีน โดยรายงานของสภาการส่งออกถั่วเหลืองสหรัฐฯ ระบุว่า การนำเข้าถั่วเหลืองของจีนจากสหรัฐฯ ในปี 2023 มีปริมาณเกือบ 25 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 15,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของถั่วเหลืองที่สหรัฐฯ ส่งออก
อย่างไรก็ตาม การหันไปใช้อุปทานของบราซิลและประเทศอื่นช่วยลดการพึ่งพาถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ในจีนลดลงจาก 40% ในปี 2016 เหลือ 18% ในปี 2023 สัดส่วนดังกล่าวอาจลดลงไปอีกในอนาคตหากสหรัฐฯ และจีน “เต้นไม่เข้าจังหวะกัน”
ผู้เชี่ยวชาญในวงการประเมินว่า การนําเข้าถั่วเหลืองของจีนจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากราว 104 ล้านตันในปี 2025 (ปีการตลาดจะอยู่ระหว่างเดือนกันยายนของปีก่อน-สิงหาคมของปีถัดไป) เป็น 140 ล้านตันในปี 2034
หลายฝ่ายคาดหวังว่า สหรัฐฯ และจีนน่าจะกลับสู่โต๊ะเจรจาและหารือกันอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ ในปี 2025 จะกลับมาอยู่ที่ระดับ 30 ล้านตัน แต่หากพิจารณาจากจุดยืนของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ความคาดหวังดังกล่าวก็ดูจะเป็นเพียง “ความฝัน” เท่านั้น
รายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยังคาดการณ์ว่า ผู้ส่งออกถั่วเหลือง 3 รายใหญ่ของโลก อันได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล และอาร์เจนตินา จะมีบทบาทถึง 90% ของการค้าถั่วเหลืองโลกในปี 2034 โดยการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ อาจกลับมาแตะหลัก 58 ล้านตัน
ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับข้าวโพด ที่จีนนำเข้าไปเลี้ยงฝูงปศุสัตว์จํานวนมาก โดยมีสหรัฐฯ เป็นแหล่งซัพพลายสำคัญของจีนมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ โดยในปี 2023 จีนนําเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่จีนก็เริ่มหันไปนําเข้าข้าวโพดจากบราซิลนับแต่ปี 2022 และใช้เวลาเพียงไม่นาน การส่งออกข้าวโพดของบราซิลก็แซงหน้าสหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นซัพพลายเออร์อันดับต้นของจีนไปแล้ว
หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ที่จีนเป็นตลาดสําคัญสําหรับการส่งออกขาและเครื่องในไก่และหมูของสหรัฐฯ ซึ่งมีความต้องการของตลาดสหรัฐฯ เพียงเล็กน้อย โดยการนําเข้าเนื้อสัตว์และเครื่องในของจีนจากสหรัฐฯ ลดลงนับแต่ปี 2020 เหลือราว 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีก่อน
ในกรณีของผ้าฝ้าย ตามรายงานของกรมวิชาการเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ตลาดจีนมีสัดส่วนคิดเป็นราว 25% ของมูลค่าการส่งออกฝ้ายของสหรัฐฯ ในปี 2023 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจาก 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีก่อน
เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทรัมป์ 2 จะทำให้การค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างจีนและสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สหรัฐฯ จะเรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าทั่วไป 10-20% และสินค้าจีนถึง 60% หรือสูงกว่าอย่างที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ รวมทั้งจะกดดันให้จีนนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างไร
เพราะทุกสิ่งล้วนมีผลบวกและลบตามมา ในภาพใหญ่ การเพิ่มอากรนำเข้าจะทำให้อัตราอากรนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะบั่นทอน “ภาพลักษณ์” ของการเป็นประเทศที่มีจุดยืนของ “การค้าเสรี” และกลับเป็นจีนที่ “แย่งซีน” เรียกร้อง “การเปิดเสรีทางการค้าแบบพหุภาคี” และ “กระแสโลกาภิวัตน์” ในเวทีโลก และประกาศลดอากรนำเข้าสินค้าอยู่เนืองๆ รวมทั้งครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ท่านผู้อ่านอาจฉงนเหมือนกับผม เพราะเพียงราว 40 ปี สหรัฐฯ ภายใต้การนำของผู้นำจากพรรคการเมืองเดียวกันได้เปลี่ยนหลักการและความเชื่อของตนเองชนิด “หน้ามือเป็นหลังมือ” จากจุดยืนในเรื่อง “การค้าเสรี” ในยุค “Reaganomics” ของสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ รีแกน เป็น “การกีดดันทางการค้า” ภายใต้ “Trumponomics” ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ขณะเดียวกัน การเรียกเก็บอากรนำเข้าสินค้าจีนในอัตราที่สูงดังเช่นที่ได้เห็นในช่วงสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 1 ก็สะท้อนว่า แนวทางดังกล่าวอาจไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องการลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ไม่อาจปกป้องหรือดึงดูดการลงทุนให้กลับสู่สหรัฐฯ และขยายการจ้างงานในสหรัฐฯ อย่างที่คาดหวังไว้แต่อย่างใด
แถมยังอาจทำให้การเกินดุลทางการค้าของจีนเพิ่มขึ้น และสร้างภาระทางการเงินแก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่แทบไม่มีทางเลือกอีกด้วย นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ดีดตัวแรงกว่าในอดีต
แหล่งข้อมูลหนึ่งของจีนระบุว่า ในระหว่างปี 2019-2023 จีนเกินดุลการค้าเฉลี่ย 672,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 320,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 2018
ประเด็นสำคัญถัดมาก็คือ จีนจะพริ้วไหวดั่ง “ต้นไผ่” ในระยะแรกเพื่อหวังผลประโยชน์ในระยะยาวหรือจะยังคงใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เหมือนที่ดำเนินการในช่วงหลายปีหลัง ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่ “การแยกขั้ว” ที่กว้างขวางมากขึ้น และบั่นทอนการเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนจีนเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับโอกาสของการเกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” แต่ในความเป็นนักธุรกิจใหญ่ของทรัมป์ที่พยายามมองหาโอกาสและผลประโยชน์ร่วม ก็ทำให้ผมเกิดคำถามตามมาว่า แล้วสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์อะไรจากการแยกขั้วและการถดถอยทางเศรษฐกิจที่อาจขยายวงเป็น “สงครามเย็น” ระลอกใหม่
สหรัฐฯ อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสามารถ “พลิกฟื้น” เศรษฐกิจและ “พัฒนา” ขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองในเวทีโลก และอาจใช้เวลาอีกหลายชั่วอายุคนในการกลับมา “จูบปาก” ประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนและชาติพันธมิตรที่ผนึกกำลังกันมากขึ้นทุกขณะได้
แต่ทั้งหมดทั้งปวงแล้ว ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าสหรัฐฯ “จะมาไม้ไหน” จีนก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อปรับเปลี่ยนสถานะความมั่นคงด้านอาหารจาก “เชิงลบ” สู่ “เชิงบวก”
ในความเป็นกลางทางการเมืองของไทย “ความไม่ลงรอย” ระหว่างสองมหาอำนาจอาจเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรของไทยในการพัฒนาเป็น “ครัวโลก” ที่แข็งแกร่งมากขึ้น และยังจะช่วยเพิ่มบทบาทของไทย จีน และประเทศพันธมิตรในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของโลกอีกทางหนึ่งในอนาคต ...
ภาพจาก: AFP
ที่มาข้อมูล : -