เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเอาชนะคู่แข่งด้วย “ความเร็ว” (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

ผมเขียนบทความนี้ “ข้ามปี” เลยถือโอกาสสวัสดีปีมะเส็ง ขอให้ท่านผู้อ่านและครอบครัวมีความสุขสมหวัง สุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้นไปตลอดปีนี้นะครับ 


พูดถึงปีนักษัตร “งู” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการปรับตัว ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจการของไทยจะสามารถปรับตัวกับ “ความเร็วของจีน” ได้ดียิ่งขึ้น วันนี้เราไปคุยกันต่อเลยว่า ในระดับมหภาคจีนยังมีกรณีศึกษาที่สะท้อนถึง “ความเร็ว” อะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง ...


บริการสาธารณะนับว่ามีบทบาทสำคัญเช่นกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งระบบนิเวศอย่างพร้อมสรรพของจีน ก็ทำให้ผู้ประกอบการในจีนสามารถเดินหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาได้อย่างสะดวกและประหยัด อันนำไปสู่การผลิตผลงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว


ความพร้อมของโครงสร้างท่าเรือและโครงข่ายการขนส่งทางถนน ทำให้วัตถุดิบและสินค้านวัตกรรมที่ผลิตขึ้นในเมืองสวงอันถูกขนส่งเข้าออกผ่านท่าเรือเทียนจิน ท่าเรือหลักในบริเวณ “คอไก่” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นผลพลอยได้ตามมาอย่างคาดไม่ถึงก็คือ ความเจริญอย่างรวดเร็วของสวงอันยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการทั้งจีนและเทศให้เข้าไปส่องดูพัฒนาการของเมืองอีกด้วย ซึ่งช่วยสร้างความกระชุ่มกระชวยในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง


ท่านผู้อ่านที่อยากเข้าใจพัฒนาการของเมืองและทิศทางการพัฒนาในอนาคตต้องหาเวลาแวะไปเยือนด้วยตนเอง ผมขอแนะนำให้ไปเยี่ยมชมโถงจัดนิทรรศการของเมืองเพื่อจะได้เห็นแนวทางและทิศทางการพัฒนาของสวงอันในอนาคต และใช้เวลานั่งรถและเดินเล่นในตัวเมืองเพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย 


เพราะที่ผมเล่ามาทั้งหมดก่อนหน้านี้ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาในภาพรวม ผมยังคิดอยู่ว่า หากไม่เผชิญกับวิกฤติโควิด ความเจริญของสวงอันน่าจะรุดหน้ากว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก และพร้อมที่จะก้าวขึ้น “เมืองต้นแบบแห่งอนาคต” ของจีนได้อย่างแท้จริง


อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมได้สัมผัส ย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีก่อน การเดินทางจากเซี่ยงไฮ้ไปยังหัวเมืองในมณฑลเจียงซู เจ้อเจียง และอันฮุยต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ปัจจุบันการมาของบริการรถไฟฯ ช่วยลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการเดินทาง รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินแคมเปญ “เศรษฐกิจ 1 ชั่วโมงเดินทาง” ได้เป็นอย่างดี 


ปัจจุบัน การใช้บริการรถไฟฯ ตัวท็อปที่วิ่งด้วยความเร็วราว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจากเซี่ยงไฮ้ไปยังหัวเมืองในมณฑลเจียงซู เช่น ซูโจว ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และหูโจว ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง หรือด้านซีกตะวันตกของหางโจว ซึ่งเป็นย่านธุรกิจไฮเทคและดิจิทัลในมณฑลเจ้อเจียง ก็ใช้เวลาเพียง 78 นาที สิ่งเหล่านี้ช่วยเชื่อมและบูรณาการศักยภาพของแต่ละหัวเมืองเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ เมื่อกลางปี 2023 การรถไฟจีนก็ยังเปิดตัวรถไฟเจนใหม่ “CR450” ที่วิ่งด้วยความเร็ว 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะถูกนำมาให้บริการแก่สาธารณชนในเส้นทางหลักระหว่างภูมิภาคของจีนอนาคตอันใกล้ อาทิ ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง-ซีอาน เซี่ยงไฮ้-กวางโจว เซี่ยงไฮ้-เฉิงตู ซีอาน-เฉิงตู และเฉิงตู-คุนหมิง


ขณะเดียวกัน จีนก็ยังเตรียมใส่เกียร์เดินหน้าขยายโครงข่ายระบบการสื่อสาร 5G-Advanced (5G-A) ที่เร็วกว่า 5G ราว 10 เท่าตัวจากที่ใช้กันอยู่ในหัวเมืองใหญ่ของจีนในปัจจุบัน อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น ไปยังหัวเมืองในพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีนเช่นกันในอนาคต ซึ่งจะเปิดโอกาสทางธุรกิจและการใช้งานสินค้าดิจิทัลแก่ผู้บริโภคจีน อาทิ อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง และรถยนต์ไร้คนขับ


พัฒนาการของรถไฟฯ และระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและต่อเนื่องดังกล่าวช่วยกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ และบูรณาการหัวเมืองของจีน “ข้ามภูมิภาค” ได้ในอนาคต


ในเชิงโครงสร้างและกระบวนการตัดสินใจ รัฐบาลจีนนับว่ามีความโดดเด่นอย่างมากในการออกแบบเชิงโครงสร้าง เพราะนอกจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ที่ประชุมของโพลิตบูโรถาวร “7 อรหันต์” ก็สามารถมีมติอีกชั้นหนึ่งเพื่อช่วยกำหนดนโยบายที่เหมาะสม 


ขณะเดียวกัน การตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรที่รวดเร็วเข้ากับสถานการณ์ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของจีน อาทิ การกำหนดแผนพัฒนา 5 ปีเพื่อให้ยุทธศาสตร์การพัฒนามีความชัดเจนและต่อเนื่องกัน ซึ่งก็จะตามมาด้วยการจัดเตรียมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้


ในการประชุมติดตามความคืบหน้าของการดำเนินนโยบาย รัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญหรืออาจเรียกว่า “หลงใหล” กับการบรรลุ “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้เลยทีเดียว


แน่นอนว่า ในการดำเนินโครงการใหญ่ใดๆ ทีมผู้ปฏิบัติงานอาจต้องเผชิญกับความท้าทายระหว่างทาง เป็นระยะ และหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ สถานะความคืบหน้าของการดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ 


ด้วยวัฒนธรรมการทำงานเสมือนเป็นทีมเดียวกัน ผู้บริหารของส่วนกลางของจีนก็มักตั้งคำถามกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นว่า “เหตุผล” ที่ทำให้เกิดสภาวะการณ์ดังกล่าว และตามด้วย “ต้องการการสนับสนุนด้านทรัพยากรอะไร อย่างไรเพื่อให้ผู้รับผิดชอบโครงการสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้” 


การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รอบ 2 ที่คาดว่าจะนำไปสู่สงครามการค้าและเทคโนโลยีระลอกใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ก็ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจ “เดินเกมเร็ว” ด้วยการประกาศขายพันธบ้ตรพิเศษ 3 ล้านล้านหยวนในปี 2025 ซึ่งนับว่ามีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 


คล้ายกับยุคหู จิ่นเทาในแคมเปญ “การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่” การอัดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในครั้งใหม่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ขยายการลงทุนของภาครัฐ และพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการชะลอตัวของการส่งออกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น


หรืออาจกล่าวได้ว่า การมาของสงครามการค้าและเทคโนโลยีในยุคทรัมป์ 2 เมื่อผสมโรงกับปัญหาเดิมในยุคหลังโควิดเปรียบได้กับ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ขนาดย่อมครั้งใหม่ของจีนเลยทีเดียว ก็ต้องติดตามดูกันว่า จีนจะใช้ “ความเร็ว” ในการแก้ไขภัยคุกคามในครั้งนี้ได้ดีมากน้อยเพียงใด


อีกสิ่งหนึ่งก็คือ รัฐบาลจีนพร้อมจะผลักดันให้ใช้ทุกจังหวะโอกาสของแผนพัฒนาฯ ในการเร่งรัดการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์และจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น ปี 2025 จะเป็นปีสิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 เราจึงน่าจะเห็นการเร่งรัดการดำเนินงานในภาคส่วนสำคัญ 


ไล่ตั้งแต่การขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง การนำเอารถไฟฯ เจนใหม่และรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้ามาขยายผล รวมไปถึงการขยายสถานีอากาศเทียนกง (Tiangong) ฝูงเรือและเรือดำน้ำสำรวจใต้ท้องทะเลลึก และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เทียนเหอ-3 (Tianhe-3) ตลอดจนพลังงานนิวเคลียร์


ยกตัวอย่างเช่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 50,000 กิโลเมตร ภายในปี 2025 จีนก็จัดเตรียมทรัพยากรอย่างรอบด้านในการก่อสร้างเส้นทางใหม่อีก 3,800 กิโลเมตร ซึ่งผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า จีนจะไม่พลาดเป้าหมายดังกล่าว


เท่านั้นไม่พอ การขยับตัวเร็วดังกล่าวยังสะท้อนถึงการ “ก้าวข้าม” แผนฯ 14 ไปแล้ว โดยจีนเริ่ม “ปูพื้น” ในหลายส่วนเพื่อเตรียมการเข้าสู่แผนฯ 15 (ปี 2026-2030) และนโยบายสำคัญใหม่ อาทิ การบูรณาการชุมชนเมือง-ชนบท และกำลังการผลิตคุณภาพสูงใหม่ (New-Quality Productive Forces)


ตอนหน้าเราไปคุยกรณีศึกษา “ความเร็ว” ของภาคเอกชนในจีนกันบ้างครับ ... 




ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :