เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในการเดินหน้าวางแผนการพัฒนาเขตความร่วมมือเฉียนไห่ รัฐบาลจีนทำอะไร อย่างไรอีกบ้าง เราคุยกันต่อเลยครับ ...
เมื่อปลายปี 2023 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ของจีนได้เปิดเผยแผนการพัฒนา (Development Plan) ที่ยืนยันแนวทางการพัฒนาและการเปิดกว้างของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ อาทิ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI)
โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญ 3 ระยะ ได้แก่ ปี 2025 (สิ้นสุดแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14) ที่ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันระดับโลกภายในปี 2025 และยังตั้งเป้าหมายที่ท้าทายอื่นในปี 2030 (สิ้นสุดแพนฯ ฉบับที่ 15) และในปี 2035 (สิ้นสุดแผนฯ 16) อีกด้วย

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

สรุปข่าว

เฉียนไห่ ... ประตูเชื่อมโลกแห่งใหม่ของจีน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ปี 2025 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในหลายส่วน เพราะไม่เพียงเป็นการครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน แต่ยังรวมถึงการครบรอบ 45 ปีของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น และ 35 ปีของเขตเมืองใหม่ผู่ตง (เซี่ยงไฮ้) รวมทั้งการครบรอบ 15 ปีของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ และการก้าวสู่ระยะใหม่ของความร่วมมือเซินเจิ้น-ฮ่องกงที่อยู่ห่างกันเพียงราว 5 กิโลเมตร

แต่รัฐบาลจีนคงไม่หยุดเพียงแค่นั้นเป็นแน่ เพราะจากข้อมูลของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ระบุว่า โครงการกำลังขยายเขตอาณาไปถึงกว่า 8 เท่าตัว จากในระยะแรกที่มีขนาดไม่ถึง 15 ตารางกิโลเมตรที่เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ถมทะเล เป็นกว่า 120 ตารางกิโลเมตรที่ขยายขอบข่ายเข้าไปในพื้นที่ตอนในในอนาคต

โดยผู้บริหารโครงการเริ่มพูดถึงวิสัยทัศน์ของเขตความร่วมมือเฉียนไห่ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หลักของจีนและการขยายขอบข่ายโครงการในระยะยาว อาทิ One Core, One Belt, Two Ports and 5 Districts” โดยให้ความสำคัญกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกับของสิงคโปร์

ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2025 รัฐบาลจึงได้ประกาศเปิดตัวแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่เฉียนไห่-ฮ่องกง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมและการทวีกำลังตลาดของเซินเจิ้นและฮ่องกงเข้าด้วยกัน

แผนปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็นการพัฒนากลยุทธ์การพัฒนาในเชิงคุณภาพที่ริเริ่มโดยรัฐบาลจีนเพื่อมุ่งสร้างเฉียนไห่ให้เป็นประตูชั้นนําสําหรับการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และสนับสนุนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของฮ่องกงผ่านการยกระดับความร่วมมือภายใน GBA ที่ครอบคลุมพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊าที่กว้างขวางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการพัฒนา GBA คุณภาพสูง

นั่นหมายความว่า ข้อริเริ่มดังกล่าวมุ่งหวังที่จะส่งเสริมตลาดระดับภูมิภาคที่ใหญ่ขึ้นและเป็นหนึ่งเดียวผ่านการพัฒนาระบบนิเวศที่เป็นนวัตกรรมและกลายเป็นเขตเมืองชายฝั่งที่ทันสมัย โดยพยายามที่จะกระชับความร่วมมือในหลายภาคส่วนระหว่างกัน อาทิ บริการทางการเงิน โลจิสติกส์เชิงพาณิชย์ บริการ เทคโนโลยี กิจกรรมพิเศษขนาดใหญ่ และอื่นๆ

ความร่วมมือดังกล่าวจึงถูกออกแบบเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมในด้านการเงิน เทคโนโลยี และบริการที่ทันสมัย และสนับสนุนการเติบโตสําหรับองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากฮ่องกง อาทิ การจัดตั้งสํานักงานใหญ่ด้านนวัตกรรมในเฉียนไห่สําหรับฮ่องกงและบริษัทต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์เพิ่มขีดความสามารถของ SME และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

ผู้บริหารโครงการยังเปิดเผยว่า เขตความร่วมมือเฉียนไห่วางแผนจะขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เศรษฐกิจมหาสมุทร (Ocean Economy) และเศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy) โดยจะจัดตั้งเขตสาธิตปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และเรือไร้คนขับ (Driverless Vessel) ซึ่งจะทำให้พื้นที่ที่มีความพร้อมเชิงภูมิศาสตร์เพราะติดทะเล และเต็มไปด้วยกิจการไฮเทคชั้นนำ อาทิ Tencent และ Huawei แห่งนี้ กลายเป็นพื้นที่สาธิตนวัตกรรมทั้งสองแห่งแรกของโลกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตามแนวคิด “One Country, Two Systems & Three Custom Regions”  แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังระบุถึงการปรับปรุงระบบบริการแบบครบวงจรในฮ่องกงเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของทรัพยากร “ข้ามพรมแดน” ที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริม “ความสอดคล้อง” ของกฎระเบียบ กลไก และมาตรฐานการกํากับดูแลด้านการเงิน ข้อมูล การค้าข้ามพรมแดน และการก่อสร้าง
ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ย่านนี้จะมีสถานะเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจีน นั่นเท่ากับว่า เขตเมืองใหม่เฉียนไห่จะเพิ่มการสนับสนุนผู้ประกอบการ การจ้างงาน และการแลกเปลี่ยนการฝึกงานของเยาวชนฮ่องกง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของ GBA โดยรวม และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ประการสำคัญ จีนยังเดินหน้าปรับปรุงข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง (The Closer Economic Partnership Arrangement between Mainland China and Hong Kong) ผลบังคับใช้ในส่วนนี้นำไปสู่การเปิดตลาดบริการระหว่างสองภูมิภาคต่อไป

CEPA ฉบับแก้ไขเปิดทางช่วยยกระดับให้ฮ่องกงมีความเป็นเลิศด้านการเงิน การก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการท่องเที่ยว ทําให้กิจการและผู้เชี่ยวชาญในฮ่องกงมีความสามารถสามารถในการเข้าถึงตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน เขตความร่วมมือเฉียนไห่เป็นที่ตั้งของกิจการฮ่องกงเกือบ 10,000 แห่ง ขณะที่โรงงานในฝันของคนรุ่นเยาว์เฉียนไห่(เซินเจิ้น)-ฮ่องกง (Qianhai Shenzhen-Hong Kong Youth Dream Factory) ก็ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพฮ่องกงไปเกือบ 900 แห่งพร้อมเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาล

หลายคนอาจสงสัยว่า นอกจากการพัฒนาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีและครบเครื่อง อาทิ กลไกการดึงดูดแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญ ตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เฉียนไห่ (Qianhai Mercantile Exchange) ศูนย์ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาททางการค้า (GBA Arbitration Center) และการอุดหนุนบางอย่างแล้ว เขตความร่วมมือเฉียนไห่ยังให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของเงินได้

ภายหลังการเชื่อมโยงเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊าผ่านเซินเจิ้นและทำให้ GBA เติบใหญ่ทั้งในเชิงขนาดเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เขตความร่วมมือเฉียนไห่กำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จีนจะใช้เป็นประตูเศรษฐกิจอันทรงพลังอีกแห่งหนึ่งของจีนในการเชื่อมต่อกับโลกกว้างภายนอก ...

ที่มาข้อมูล : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ที่มารูปภาพ : Getty Images