ระวัง”เด็กจมน้ำ” ภัยเงียบฤดูร้อน

ระวัง”เด็กจมน้ำ” ภัยเงียบฤดูร้อน

สรุปข่าว

สาเหตุที่พบว่าเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากในช่วงฤดูร้อนเมื่ออากาศร้อนและอยู่ในช่วงปิดเทอม เด็กๆก็จะชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยบางครั้งไม่มีผู้ปกครองไปด้วย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ยังขาดทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำ และไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 7,374 ราย เฉลี่ยปีละ 737 ราย หรือเท่ากับเฉลี่ยวันละ 2 ราย โดยเด็กช่วงอายุ 5-9 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ 2,867 คน และช่วงเดือนมี.ค. - พ.ค. เป็นช่วงที่เสียชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 32.7 ของการจมน้ำเสียชีวิตตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าในปี 2564 ปีเดียว มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จมน้ำเสียชีวิตถึง 219 ราย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มี จึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีให้เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปีพ.ศ. 2570 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำหลักการช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้องคือ ตะโกน โยน ยื่น “ตะโกน” ก็คือเรียกให้ผู้ใหญ่ หรือ คนที่อยู่ในบริเวณนั้นรู้ว่ามีคนตกน้ำเพื่อขอความช่วยเหลือ “โยน” ก็คือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เกาะจับพยุงตัวไว้ อาจจะเป็นขวดพลาสติก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนลงไปครั้งละหลายๆชิ้น สุดท้าย “ยื่น” คือยื่นอุปกรณ์ที่มีอยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับเช่น ไม้ เสื้อหรือผ้าขาวม้า โดยยื่นให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ ส่วนวิธีการกระโดดลงไปช่วยนั้น ผู้ช่วยเหลือต้องมีประสบการณ์ ถ้าหากว่ายน้ำไม่เป็นห้ามกระโดดลงไปเด็ดขาดเพราะอาจถูกดึงให้จมน้ำเสียชีวิตได้เช่นกัน

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :