

สรุปข่าว
นโยบายสีเขียวจากเมืองหลวงทางฝั่งยุโรปมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ลองมาดูเมืองแรกอย่างกรุงสตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ที่นี่นับว่าเป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองที่เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน และให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด นโยบายที่น่าสนใจคือทางการจะลดภาษีให้กับรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด และเก็บภาษีรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูงกว่า ทำให้ปริมาณการการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดมีสัดส่วนสูงขึ้นในแต่ละปี จนไปถึงมีการตั้งเป้าการดำเนินงานด้านพลังงานของกรุงสตอกโฮล์ม คือ ให้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มปริมาณการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% ในปีพ.ศ. 2568 และตั้งเป้าว่าในปี พ.ศ. 2593 จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลให้ได้ นอกจากนี้ยังพัฒนาเส้นทางสำหรับรถจักรยานและทางเท้ามากขึ้นทุกปี มีจุดเช่าจักรยานกระจายทั่วเมือง ทำให้ประชาชนที่นั่นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้โดยอัตโนมัติ อีกเมืองที่น่าสนใจคือ เมืองโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์ก มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งต่อไปยังภาคครัวเรือน วิธีนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากและอีกมุมหนึ่งก็คือกำจัดขยะได้ด้วย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับจักรยาน ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งจักรยานเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างเลนสำหรับการปั่นจักรยานโดยเฉพาะ คนที่นี่ก็จะเดินทางกันด้วยจักรยานมากกว่ารถยนต์ เป็นการลดปัญหารถติดและมลพิษได้ดี รวมถึงยังพัฒนาการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อสัดส่วนของประชากรด้วย นอกจากนี้ยังสร้างระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ลดการปล่อยสารพิษและสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำเน่าเสีย แม้เมืองนี้จะเป็นเมืองติดชายฝั่ง มีโรงงานมากมาย แต่ประชาชนในเมืองก็สามารถบริโภค อุปโภคน้ำได้อย่างสะอาด ปิดท้ายที่เมืองเบอร์ลินของประเทศเยอรมนี ที่นี่กำหนดโซนสิ่งแวดล้อมขึ้นมากลางเมืองหลวง โดยโซนนี้ยานพาหานะที่จะวิ่งเข้ามาได้ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพไอเสียของรถยนต์และได้รับสติกเกอร์สิ่งแวดล้อมสีเขียวเท่านั้น ถ้าไม่มีแล้วขับเข้ามาต้องเสียค่าปรับสูงถึง 100 ยูโรหรือประมาณ 3,600 บาททีเดียว รวมถึงมีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ที่เข้มงวดมาก ใครที่จะตัดแต่งต้นไม้ขนาดเส้นรอบวงตั้งแต่ 80 ซม. ขึ้นไปต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐก่อน แม้ว่าจะเป็นต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่บ้านส่วนตัวก็ตาม หรือการสร้างรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ต้องไม่ทำให้รากไม้ของต้นไม้นั้นเสียหาย รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนต้นไม้ที่เข้าข่ายการคุ้มครองก็จะได้รับการคุ้มครองด้วยเช่นกัน ใครผ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 ยูโร หรือประมาณ 1,800,000 บาท และที่นี่ยังมีกฏหมายแยกขยะที่เข้มงวด แม้พื้นฐานแล้วคนเยอรมันจะถูกปลูกฝังให้มีการแยกขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ในโรงเรียน การทิ้งขยะไม่ถูกที่หรือการแยกขยะไม่ถูกต้องนั้นจึงเป็นเรื่องที่มีค่าปรับค่อนข้างสูง เช่น การทิ้งก้นบุหรี่ หรือ คายหมากฝรั่งไม่ถูกที่อาจจะมีโทษปรับถึง 120 ยูโรหรือประมาณ 4,300 บาท และถ้าเป็นการทิ้งขยะที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมในบริเวณที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่แยกให้ถูกต้อง ค่าปรับก็จะเพิ่มเป็น 800 ยูโร หรือประมาณ 29,000 บาท เป็นต้น
ที่มาข้อมูล : -