“ขยะอาหาร” ทำโลกร้อนมากกว่าภาคการบิน

ในแต่ละปี อาหารหลายร้อยล้านตันทั่วโลกจบลงที่หลุมฝังกลบ กลายเป็นเศษผักเน่าเสียหรือขนมปังหมดอายุที่ปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า

 

องค์การสหประชาชาติระบุว่า ปัจจุบันขยะอาหารคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการปล่อยมลพิษจากทั้งภาคการบิน หากขยะอาหารเป็นประเทศหนึ่ง มันจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น


ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แซนเดอร์ส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการตลาดและการวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้ศึกษาเรื่องขยะอาหารมานานกว่าสิบปี เขาชี้ว่า การลดขยะอาหารอาจเป็นทางเลือกที่เร็วที่สุดและคุ้มค่าที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเขาระบุว่า เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซตามข้อตกลงปารีสได้เลย หากไม่จัดการกับขยะอาหารอย่างจริงจัง

“ขยะอาหาร”  ทำโลกร้อนมากกว่าภาคการบิน

สรุปข่าว

“ขยะอาหาร” ปัญหาที่ซ่อนอยู่กับผลกระทบมหาศาลต่อสภาพภูมิอากาศ ปล่อยก๊าซมีเทน แรงกว่า CO₂ ถึง 28 เท่า กลายเป็นตัวการโลกร้อนอันดับต้นๆ ของโลก นักวิจัยชี้ ลดขยะอาหารคือทางลัดที่เร็วและคุ้มค่าที่สุดในการหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

แม้สังคมจะให้ความสำคัญกับการลดควันจากรถยนต์หรือมลพิษจากโรงงาน แต่ขยะอาหารจากกลับปล่อยก๊าซมีเทนที่ทรงพลังมากในช่วง 10 ปีแรกหลังย่อยสลาย ซึ่งสามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระยะสั้น ดังนั้นการลดขยะอาหารคือหนึ่งในวิธีที่ปฏิบัติได้จริงที่สุดในการลดก๊าซเรือนกระจกในช่วงเวลาอันใกล้ แต่เมื่อเริ่มต้นวิจัย แซนเดอร์สพบว่ามีนโยบายมากมาย เช่น การเปลี่ยนฉลากวันหมดอายุ หรือข้อเสนอให้มีการบังคับแยกขยะ แต่กลับขาดข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าแนวทางเหล่านี้ใช้ได้ผลในโลกจริง รัฐหลายแห่งในสหรัฐฯ ออกกฎหมายห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ โดยบังคับให้ร้านค้าบริจาคอาหารหรือส่งไปยังระบบย่อยสลายแทน แต่ผลลัพธ์กลับไม่แน่นอน


แซนเดอร์สและทีมวิจัยพบว่า มีเพียงรัฐแมสซาชูเซตส์ที่สามารถบังคับใช้กฎหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีบทลงโทษชัดเจนและโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่น ศูนย์รับขยะอินทรีย์ที่เข้าถึงได้ง่าย

แซนเดอร์สเสนอแนวทางใหม่ ด้วยการการตั้งราคาสินค้าแบบไดนามิก หรือการปรับราคาสินค้าตามวันหมดอายุโดยอัตโนมัติ เช่น โยเกิร์ตที่ใกล้หมดอายุในอีก 2 วัน ควรขายในราคาที่ถูกลงกว่าสินค้าที่หมดอายุในอีก 2 สัปดาห์


เทคโนโลยีนี้ช่วยลดต้นทุนร้านค้า ลดขยะอาหาร และยังเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่มองหาของสดราคาถูก แม้บางฝ่ายจะเชื่อว่าฉลากที่คลุมเครือ เช่น "ใช้ก่อน" "ดีที่สุดก่อน" เป็นตัวการทำให้ผู้บริโภคทิ้งอาหารก่อนเวลาอันควร แต่แซนเดอร์สเตือนว่า ยังไม่มีการทดลองภาคสนามขนาดใหญ่ที่ยืนยันว่าการเปลี่ยนฉลากช่วยลดขยะอาหารได้จริง แม้นโยบายจะเปลี่ยนแปลงระบบ แต่สุดท้ายผู้บริโภคคือปลายทางของห่วงโซ่ขยะอาหาร เขาแนะนำให้วางแผนมื้ออาหาร ตรวจเช็กของในตู้เย็น และกินของเหลือก่อนจะเน่าเสีย


ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เริ่มให้บริการถังแยกขยะอินทรีย์ แซนเดอร์สสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบนี้อย่างสม่ำเสมอ การทำปุ๋ยหมักยังดีกว่าฝังกลบ แต่จะดีที่สุดถ้าไม่สร้างขยะอาหารตั้งแต่ต้น

ที่มาข้อมูล : earth.com

ที่มารูปภาพ : Reuters