
เมตา (Meta) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มดังอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตราแกรม (Instagram) ประกาศโครงการเดินสายเคเบิลใต้ทะเลความยาวกว่า 50,000 กิโลเมตร ทอดยาวผ่านพื้นที่ทั่วโลก

สรุปข่าว
โครงการนี้มีชื่อว่า วอเตอร์เวิร์ธ (Project Waterworth) หรือโครงการเดินสายเคเบิลใต้ทะเล ที่จะวางระบบสายเคเบิลลึกถึง 7,000 เมตร และใช้เทคนิคการฝังขั้นสูงในพื้นที่รอยเลื่อนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากสมอเรือและอันตรายอื่น ๆ
โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายนี้กล่าวว่า สายเคเบิลนี้จะมีความยาวมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา หรือยาวกว่าเส้นรอบวงที่วัดจากเส้นศูนย์สูตรโลก ซึ่งมีความยาวที่ 40,077 กิโลเมตร และทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล และภูมิภาคอื่น ๆ
สำหรับตัวสายเคเบิลใช้ระบบ 24 คู่สายไฟเบอร์ ทำให้มีความจุสูงขึ้น ซึ่งบริษัทเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น อำนวยความสะดวกในการบูรณาการทางดิจิทัล และเปิดโอกาสสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในภูมิภาคดังกล่าว
สำหรับการใช้งานสายเคเบิลใต้ทะเล มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนบริการดิจิทัลที่หลากหลาย และถ่ายโอนข้อมูลทั่วโลกด้วยความเร็ว โดยมีสถิติที่ระบุว่าปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 ถูกถ่ายโอนผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล
โดยบริษัทวิจัยตลาดโทรคมนาคม เทเลจีโอกราฟี (TeleGeography) ได้ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีระบบสายเคเบิลใต้ทะเลที่ทราบกันโดยสาธารณะมากกว่า 600 ระบบทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสายเคเบิล ทูแอฟริกา (2Africa) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเมตา (Meta) และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเจ้าต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงสามทวีป และครอบคลุมระยะทาง 45,000 กิโลเมตร
ทั้งนี้เมตาระบุว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ สายเคเบิลของโครงการวอเตอร์เวิร์ธ จะเป็นโครงการเคเบิลใต้น้ำที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของบริษัท และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อของอุตสาหกรรมทั่วโลก
ข้อมูลจาก
https://www.bbc.com/news/articles/ckgrgz8271go
https://newatlas.com/telecommunications/meta-undersea-cable-be-longer-earth-round/
https://web.facebook.com/watch/?v=1380677579958845
https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/science/10000-11165.html
ที่มาข้อมูล : Life at Meta / META
ที่มารูปภาพ : Life at Meta / META