
องค์การนาซา (NASA) ปิดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) เพื่อยืดอายุภารกิจ เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและขยายระยะเวลาการปฏิบัติงานของยานที่เดินทางไกลที่สุดของมนุษยชาติ
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ขององค์การนาซา (NASA) ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ได้ปิดระบบทดลองรังสีคอสมิกของยานวอยเอเจอร์ 1 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ และเตรียมปิดเครื่องมือวัดอนุภาคมีประจุพลังงานต่ำของยานวอยเอเจอร์ 2 ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งจะทำให้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ยังทำงานได้บนแต่ละยานเหลือเพียง 3 ชิ้น
การดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดการพลังงาน เพื่อให้ยานสำรวจทั้งสองลำสามารถทำงานได้นานขึ้น แม้พลังงานจะลดลงเรื่อย ๆ
ยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2) ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1977 โดยใช้พลังงานจากระบบผลิตไฟฟ้าจากไอโซโทปรังสี (RTG) ที่แปลงพลังงานความร้อนจากการสลายตัวของพลูโตเนียมเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าวสูญเสียพลังงานเฉลี่ยปีละ 4 วัตต์ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องปิดเครื่องมือบางส่วนเพื่อลดการใช้พลังงาน
"ยานวอยเอเจอร์เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของเรา และเราต้องการให้มันทำงานต่อไปได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่หากไม่ดำเนินการปิดอุปกรณ์บางส่วนในตอนนี้ พลังงานอาจหมดเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้" ซูซานน์ ด็อดด์ (Suzanne Dodd) ผู้จัดการโครงการวอยเอเจอร์ที่ JPL กล่าวอธิบายเพิ่มเติม

สรุปข่าว
การปิดเครื่องมือบนยานวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำ
ยานวอยเอเจอร์ทั้ง 2 ลำ ติดตั้งเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 10 ชิ้น แต่บางส่วนถูกปิดไปหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เครื่องมือที่ยังคงทำงานอยู่ในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการศึกษาพื้นที่เฮลิโอสเฟียร์ ซึ่งเป็นขอบเขตของระบบสุริยะที่ได้รับอิทธิพลจากลมสุริยะ และอวกาศระหว่างดวงดาวที่อยู่ไกลออกไป ยานวอยเอเจอร์ 1 เข้าสู่บริเวณอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) เมื่อปี 2012 ส่วนวอยเอเจอร์ 2 ตามไปในปี 2018 ห
สำหรับพื้นที่บริเวณอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar Space) หมายถึง อวกาศที่อยู่ระหว่างระบบดาวฤกษ์ต่างๆ ภายในกาแล็กซี เริ่มต้นที่ขอบของเฮลิโอพอส (Heliopause) ซึ่งเป็นบริเวณที่ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์อ่อนกำลังลงจนไม่สามารถต้านแรงกดดันจากสสารระหว่างดาวได้
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2024 ที่ผ่านมา โครงการได้ปิดเครื่องมือวัดพลาสม่าของยานวอยเอเจอร์ 2 ซึ่งใช้ในการตรวจสอบการไหลของพลาสม่าในอวกาศระหว่างดวงดาว เครื่องมือดังกล่าวเคยให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบยานก่อนที่ประสิทธิภาพจะลดลง เช่นเดียวกับเครื่องมือวัดพลาสม่าของยานวอยเอเจอร์ 1 ที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้หลายปี
และล่าสุด ระบบทดลองรังสีคอสมิกของยานวอยเอเจอร์ 1 ถูกปิดลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องมือนี้เคยช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุขอบเขตของเฮลิโอสเฟียร์ได้
ในขณะที่เครื่องมือวัดอนุภาคมีประจุพลังงานต่ำของยานวอยเอเจอร์ 2 ซึ่งจะถูกปิดในเร็ว ๆ นี้ มีหน้าที่ตรวจจับรังสีคอสมิกจากระบบสุริยะและกาแล็กซีของเรา เครื่องมือนี้มีระบบหมุนเพื่อปรับมุมมอง 360 องศา และทำงานด้วยมอเตอร์ที่ทำงานมาแล้วกว่า 8.5 ล้านรอบ ตั้งแต่ปี 1980
ทีมนักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ แต่พลังงานที่ลดลงทำให้จำเป็นต้องเลือกปิดอุปกรณ์บางส่วน เมื่อปิดเครื่องมือทั้ง 2 นี้แล้ว ยานวอยเอเจอร์จะยังคงมีพลังงานเพียงพอสำหรับการทำงานอีกประมาณหนึ่งปี ก่อนที่ทีมจะต้องตัดสินใจปิดเครื่องมืออื่นเพิ่มเติม
ณ ขณะนี้ ยานวอยเอเจอร์ 1 ยังคงใช้งานเครื่องวัดสนามแม่เหล็กและระบบตรวจจับคลื่นพลาสม่าได้ต่อไปจนถึงปี 2025 ส่วนยานวอยเอเจอร์ 2 มีกำหนดปิดระบบทดลองรังสีคอสมิกในปี 2026 ยานทั้ง 2 ลำ ยังคงเดินทางออกไปไกลจากโลกขึ้นเรื่อย ๆ และวิศวกรเชื่อว่ายานอาจยังสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้จนถึงช่วงปี 2030 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากปัจจัยไม่คาดคิดในอวกาศลึกอาจทำให้ภารกิจต้องสิ้นสุดก่อนกำหนดจนทำให้สัญญาขาดหายไป
ปัจจุบัน ยานวอยเอเจอร์ 1 เป็นวัตถุสิ่งที่ประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและเดินทางไปได้ไกลที่สุดจากโลก โดยอยู่ห่างออกไปกว่า 25,000 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่ยานวอยเอเจอร์ 2 อยู่ที่ระยะประมาณ 21,000 ล้านกิโลเมตร เนื่องจากระยะทางอันห่างไกล การส่งสัญญาณไปถึงยานวอยเอเจอร์ 1 ต้องใช้เวลาถึง 23 ชั่วโมง ส่วนยานวอยเอเจอร์ 2 ใช้เวลา 19 ชั่วโมงครึ่ง และยานอวกาศทั้ง 2 ลำ นับเป็นการเดินทางสำรวจที่น่าทึ่งของมนุษยชาติ

พีรพรรธน์ เชื้อจีน