
รถสำรวจคิวริออสซิตี้ (Curiosity) ค้นพบหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่า "ดาวอังคารเคยเอื้อต่อการอยู่อาศัย" โดยการค้นพบเกิดขึ้นขณะรถหุ่นยนต์สำรวจปีนขึ้นไปตามเนินเขาของภูเขาชาร์ป (Mount Sharp) ซึ่งตั้งอยู่ภายในหลุมอุกกาบาตเกล (Gale Crater) บนดาวอังคาร
องค์การนาซาเปิดเผยว่ารถสำรวจคิวริออสซิตี้ (Curiosity) ได้ค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นของแหล่งสะสม "คาร์บอน" ปริมาณมากที่ถูกกักเก็บอยู่ในแร่คาร์บอเนต (Carbonate minerals) ซึ่งถือเป็นเบาะแสสำคัญในการไขปริศนาเรื่องความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้
แร่คาร์บอเนตมักก่อตัวขึ้นเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับน้ำและหิน ทำให้มันกลายเป็นตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมในอดีตที่สำคัญ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะเคยตรวจพบแร่ชนิดนี้บนดาวอังคารมาก่อน โดยใช้ข้อมูลจากทั้งยานสำรวจบนพื้นผิวดาวอังคาร, ดาวเทียมบนโคจร และแม้กระทั่งอุกกาบาตจากดาวอังคารที่ตกลงมายังโลก แต่ข้อมูลล่าสุดจากรถสำรวจคิวริออสซิตี้ (Curiosity) ได้เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่
เบน ทูโตโล (Ben Tutolo) หัวหน้าทีมวิจัยหลักและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคัลการี กล่าวว่า "การค้นพบนี้ยืนยันว่าดาวอังคารเคยเอื้อต่อการดำรงชีวิต และแบบจำลองที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการประเมินความเอื้อต่อการอยู่อาศัยนั้นถูกต้อง"

สรุปข่าว
หลักฐานบ่งชี้ว่า แร่เหล่านี้น่าจะก่อตัวในสภาพที่แห้งมาก ผ่านปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำกับหิน และตามมาด้วยกระบวนการระเหย สิ่งนี้สะท้อนถึงยุคหนึ่งที่ดาวอังคารยังมีบรรยากาศหนาแน่นเพียงพอ และอุดมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มากพอที่จะหล่อเลี้ยงน้ำในสถานะของเหลวบนผิวดาวได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บรรยากาศกลับบางลง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนหนึ่งก็เริ่มตกตะกอนกลายเป็นหิน
หนึ่งในแร่สำคัญที่รถสำรวจคิวริออสซิตี้ (Curiosity) ตรวจพบคือ "ไซเดอไรต์" (Siderite) ซึ่งเป็นคาร์บอเนตที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก โดยพบในปริมาณสูงอย่างน่าประหลาดใจ คิดเป็นน้ำหนักถึง 5-10% พร้อมด้วยเกลือที่ละลายน้ำได้ง่าย
เบน ทูโตโล (Ben Tutolo) อธิบายเอาไว้ว่า “สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าดาวอังคารเคยเอื้อต่อการอยู่อาศัยจนถึงช่วงเวลานั้น แต่เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ที่ช่วยรักษาความอบอุ่นของดาวเริ่มตกผลึกเป็นไซเดอไรต์ ก็อาจทำให้ดาวอังคารสูญเสียความสามารถในการรักษาอุณหภูมิ”
ความน่าสนใจยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก คือ การตรวจพบแร่กลุ่ม "ไอรอนออกซีไฮดรอกไซด์" ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในอดีตดาวอังคารอาจมีระบบวัฏจักรคาร์บอนคล้ายกับของโลก โดยคาร์บอนไดออกไซด์บางส่วนที่ถูกกักในหินสามารถกลับคืนสู่บรรยากาศได้ในภายหลัง
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากดาวเทียม นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ชั้นหินลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นของดาวอังคาร อาจกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ได้มากถึง 36 มิลลิบาร์ ซึ่งมากพอจะส่งผลเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของดาวอังคาร และจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิพื้นผิวให้พอเหมาะกับการคงอยู่ของน้ำในสถานะของเหลวในอดีต