เศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้น!!หากโควิด-19 ระบาดหนักอีกรอบ

เศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้น!!หากโควิด-19 ระบาดหนักอีกรอบ

สรุปข่าว

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วงไม่นานมานี้เริ่มจะคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆลดลงเรื่อยๆ   แต่ด้วยสถานการณ์ที่ดีขึ้นทำให้ประชาชนเริ่มการ์ดตก ค่อยๆลดความสำคัญของมาตรการเว้นระยะห่าง หรือแม้แต่การใส่หน้ากากป้องกัน จึงเกิดเป็นกระแสความกังวลว่า "เมื่อการ์ดตก" แล้วเชื้อจะกลับมาแพร่ระบาดอีกระรอกหรือเปล่า ? 

       ในช่วงที่การแพร่ระบาดรุนแรงส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก็หนีไม่พ้นกลุ่มธุรกิจเพราะการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ด้วยมาตรการคุมเข้มทั้งการเดินทาง การท่องเที่ยว ผู้คนกลัวการออกจากบ้าน ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องพลอยทรุดกันไปตามๆกัน จนมาถึงขณะนี้บรรยากาศของภาคธุรกิจต่างๆก็ยังคงเงียบเหงา แม้ว่ารัฐบาลก็เริ่มผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง  และยังมีแผนที่จะเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ที่จะนำร่องแบบ "Travel Bubble ก่อน" ซึ่งประชาชนก็ยังกังวลและยังไม่ยอมรับมาตรการนี้ 

        แต่แล้วล่าสุด( 13 ก.ค.63) กลับพบผู้ติดเชื้อในไทย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศที่เดินทางมาไทย ยิ่งตอกย้ำความกังวลที่มีต่อภาคธุรกิจขึ้นไปอีก 


MortorExpo.com

        นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ยังกังวลการผ่อนปรนเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย เพราะหากมีอะไรผิดพลาดอาจจะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ได้ ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ตลาดรถยนต์หยุดชะงัก เหมือนที่ระบาดเมื่อช่วงต้นปี เพราะหากระบาดรอบ 2 ผู้บริโภคจะหมดความมั่นใจและไม่ใช้จ่าย การเลิกจ้างตกงานอาจจะกลับมาอีก รวมถึงการพิจารณาปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวดขึ้นด้วย

         นายอนุสรณ์ ธรรมใจ  อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า หากโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระรอก อาจทำให้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นอีก   โดยเฉพาะความกังวลกรณีที่ มี ผู้ติดเชื้อในกลุ่ม VIP ของรัฐบาลที่ได้รับการยกเว้น StateQuarantine ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นการการทำงานของภาครัฐ ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยสูญเสียศรัทธาต่อมาตรการต่างๆที่รัฐบาลบอกให้ประชาชนปฏิบัติตามแต่รัฐบาลได้ให้อภิสิทธิ์กับคนบางกลุ่มและไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ การไม่มี state quarantine สำหรับบุคคลบางกลุ่มเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง และ อันตรายต่อการเกิดการระบาดระลอก 2 


       โดยขณะนี้ อุปสงค์ภายในประเทศหรือตลาดโลกอาจเกิดภาวะ "Pending Demand"  ในเดือน ก.ค. และ ในเดือน ส.ค. เป็นภาวะฟื้นตัวของอุปสงค์ชั่วคราวจากความต้องการที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ในช่วงปิดเมือง  แต่การเพิ่มขึ้นของ "Pending Demand" ไม่ได้เป็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใดๆทั้งสิ้น ตราบเท่าที่คนจำนวนมากยังว่างงานและไม่มีรายได้ที่มั่นคง สแม้ถานการณ์เศรษฐกิจย่อมดีกว่าช่วงไตรมาสสองเล็กน้อยก็ตาม 

           สิ่งที่เราต้องตระหนัก ก็คือ โครงการและมาตรการต่างๆภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาลนั้น  ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตามเป้าหมาย ต้องให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่และชะลอการปิดกิจการเพิ่มเติม  แต่ "อย่าไปคาดหวัง" ว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว  ภาคการท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี  ธุรกิจและการจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทนไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ล้นเกินความต้องการมาก    และ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่ไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี   หรือแม้แต่การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ การนำเงินงบประมาณไปทำในเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือความเดือนร้อนของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า

          อย่างไรก็ดี  เห็นด้วยกับนโยบาย Travel Bubble โดยควรเปิดได้ในบางระดับ  โดยเฉพาะการติดตามเพื่อดำเนินธุรกิจและการลงทุน ส่วนการท่องเที่ยวโดยทั่วไปคงต้องรอให้มีความมั่นใจว่า เราสามารถควบคุมไม่ให้มีการนำเชื้อ Covid-19 เข้าสู่ประเทศได้มีประสิทธิภาพมากพอ และ มีมาตรการให้ดูแลการแพร่ระบาดจากบุคคลต่างชาติได้   โดยมองว่า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นทั้งหลาย สินค้าทางด้านการสื่อสารออนไลน์และเกี่ยวกับการ Work from home น่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด กิจการในภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ธุรกิจผับบาร์ ธุรกิจนวดสปาหรืออาบอบนวด ธุรกิจอีเวนต์ต่างๆน่าจะฟื้นช้าสุด


ม.หอการค้าไทย

        ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่าแม้ประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย Travel Bubble แต่ภาคเอกชนที่หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นยังอยากให้มีการนำร่องเปิดการท่องเที่ยวรับต่างชาติเข้ามา เพื่อเป็นอีกแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว   เพราะมองว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และประเทศไทยไม่ควรเสี่ยงจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 

        เศรษฐกิจไทยขณะนี้บอบช้ำหนัก แม้ว่าสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ก็เป็นโจทย์ยากในการที่จะ "เข็นเศรษฐกิจให้โงหัวขึ้นได้เร็วที่สุด"  เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจบ้านเรายังต้องพึ่งพาเงินตราจากต่างชาติอยู่ดี ซึ่งความหวังต่อจากนี้เห้นจะเป็น "ครม.ชุดใหม่" ที่่ตอนนี้จะยังไม่ชัดเจน จัดระเบียบจัดแถวกันยังไม่เข้าที่ แต่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง คงหนีไม่พ้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่โดนทุบหนักจากเจ้าโควิดตัวร้ายนี้ไปให้ได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 เจาะงบปี64!กระทรวงดาวเด่นทุ่มทุน เข็นเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด-19

 ล้วงลึก!งบปี64 ทำไมตั้งสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท

  เปิด 2 มาตรการ "แจกเงินเที่ยว" ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19


 เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

ข่าวเศรษฐกิจ
ข่าวล่าสุด
ข่าววันนี้
โควิด19
ไวรัสโควิด
ไวรัสโคโรนา
ไวรัสอู่ฮั่น
ไวรัสโคโรน่า
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่