

สรุปข่าว
วันนี้( 19 พ.ค.65) สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน หรือฮิลล์ อาเซียน คลังสมองทางวิชาการซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มฮาคูโฮโด ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Sei-katsu-sha) ล่าสุด ในหัวข้อ “เจาะลึกเรื่องแฟนด้อม: ฐานพลังคนกลุ่มใหม่ สู่การขับเคลื่อนสังคมอาเซียน” โดยได้วิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ มุมมองความคิด และพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ พร้อมตกผลึกออกมาเป็นแนวทางการต่อยอดทำการตลาดในปี 2565 โดยนางสาววรรณรัตน์ วิศวสุขมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮิลล์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ได้เล็งเห็นความสำคัญของคนกลุ่มใหม่ๆ จึงเกิดความสนใจเจาะลึกพฤติกรรมแฟนด้อมในอาเซียนในปัจจุบัน จากผลวิจัยครั้งนี้ ฮิลล์ อาเซียน ได้ให้คำจำกัดความของ “แฟนด้อม” หมายถึง ผู้คนที่มีความหลงใหลชื่นชอบในตัวบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นศิลปินไอดอล การ์ตูน กีฬา งานอดิเรกต่างๆ อีกทั้งยังหมายรวมถึง อาณาจักรหรือวัฒนธรรมของกลุ่มของคนคอเดียวกัน ที่มารวมตัวกันด้วยความชอบใดความชอบหนึ่ง ที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “Oshi-katsu” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในแดนปลาดิบขณะนี้
โดย ปัจจุบันผู้คนในภูมิภาคนี้มีการรวมตัวและกลายเป็นสมาชิกกลุ่มแฟนด้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก“มีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น” ในช่วงโควิด-19 “มีช่องทางที่เอื้อต่อการแชร์ข้อมูลและเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น” อันเนื่องมาจากความแพร่หลายของเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเว็บไซต์ที่รวบรวมคลิปวิดีโอฟรีให้ทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึง “มีวิธีในการแสดงออกถึงความชอบที่หลากหลายมากขึ้น” ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอและภาพได้ด้วยตัวเอง งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงมีความหลงใหลในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ แต่ยังใช้เวลาแบ่งปันความสุขนี้กับเพื่อนๆ เกิดเป็นพลังด้านบวกที่หล่อเลี้ยงอาณาจักรแฟนด้อมให้เติบโต และคอยช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ฮิลล์ อาเซียน ได้ทำการสำรวจวิจัยเชิงปริมาณและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างแฟนด้อมในชาติอาเซียน 6 ประเทศและญี่ปุ่น พบว่า เหล่าสมาชิกแฟนด้อมในอาเซียนได้รับจากการรวมกลุ่มกัน ไม่ได้มีแค่ความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือเป็นไปเพื่อคลายเครียดจากชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็น “การเติมเต็มคุณค่าในตนเอง” ด้วยการแสวงหาแง่มุมใหม่ๆ ให้กับชีวิต ทำในสิ่งที่ใจปรารถนา และตอกย้ำถึงข้อดีของตนเอง นอกจากนี้ ฮิลล์ อาเซียน ยังพบอีกว่า แฟนด้อมมีความรู้สึกเชื่อมโยงผูกพันกัน เสมือนเป็น “คนในครอบครัว” โดยที่สมาชิกในชุมชนจะคอย “ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างบริสุทธิ์ใจ” โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากนั้นชุมชนแฟนด้อมยังเชื่อมั่นใน “พลังของแฟนคลับ” และรักที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลก ยิ่งไปว่านั้น สมาชิกแต่ละคนยังมีบทบาทของตัวเองในการส่งเสริมและพัฒนาแฟนด้อมที่ตนเองหลงรัก ทั้งนี้ ชุมชนของเหล่าแฟนด้อมในชาติอาเซียนมีลักษณะเสมือน “สังคมในอุดมคติ” หรือ “ยูโทเปีย” ที่สมาชิกทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการแบ่งชนชั้น เป็นเหมือนฐานที่มั่นของทุกคน ในยุคปัจจุบันที่ชุมชนแฟนด้อมส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างเปิดกว้างและเสรี ปราศจากข้อจำกัดเรื่องอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือสถานะสังคมอย่างแท้จริง
สำหรับในประเทศญี่ปุ่นนั้น แฟนด้อม 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ “J-POP” “การ์ตูนมังงะ/แอนิเมชัน” และ “เกมส์” เมื่อเทียบกับชาติอาเซียนแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีการผลิตคอนเทนต์มหาศาลภายในประเทศ ขณะที่ประเทศอาเซียนจะได้รับอิทธิพลจากคอนเทนต์ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยแฟนด้อมในอาเซียนส่วนใหญ่มีปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน ด้วยการแชร์ข้อมูลข่าวสารกับเพื่อนสมาชิกและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านกลุ่มบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่แฟนด้อมในญี่ปุ่นนั้นจะให้ความสำคัญกับการเสพข่าวสารหรือคอนเทนต์ที่ตนเองสนใจมากกว่า เช่น ดูคลิปวิดิโอ กดติดตามบัญชีออฟฟิเชียลของสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ และสมาชิกแฟนด้อมชาวอาเซียนประมาณ 83% มีแบรนด์ในดวงใจ ประกอบกับ ผลิตภัณฑ์และบริการมีคุณภาพสูง ออกแบบมาอย่างดี มีคุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึกและให้ความสำคัญกับการกระทำ รวมทั้ง มีชุมชนแฟนคลับที่น่าดึงดูดใจ ดังนั้นหากแบรนด์และผู้ประกอบการธุรกิจปรับกลยุทธ์ เจาะตลาด “แฟนด้อม” คาดว่าจะมีผลการตัดสินใจเลือกแบรนด์และสินค้าของกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้
ข้อมูลจาก: ฮิลล์ อาเซียน
ภาพจาก : พีอาร์ ฮิลล์ อาเซียน
ที่มาข้อมูล : -