ประเทศไทย เป็นประเทศแรกในโลกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกประเทศจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังตัดสินใจเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินมาตรการด้านการท่องเที่ยวมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะหนุนให้ไทยเที่ยวไทย ณ ตอนนั้น
แต่วันนี้ การเดินทางของคนในประเทศเอง ยังยาก เนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหลายจังหวัดมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ยิ่งการเดินทางข้ามเขตแดนประเทศ รัฐบาลไม่อนุญาติให้คนสัญชาติอื่นเดินทางเข้าประเทศแล้ว

ดังนั้นปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย จึงพอเดากันได้ ว่าเป็น 0 คน ต่อวัน แต่สิ่งที่ผมจะให้ดูจากกราฟฟิกนี้ คือ ปี 2019 นักท่องเที่ยวเข้าไทยในช่วงเดียวกันของปีก่อน วิ่งอยู่ที่ราว 1 แสนคนต่อวัน
หลายค่าย ประเมินว่า ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวหดตัวจะรุนแรงที่สุดในไตรมาส 2 จากมาตรการล็อคดาวน์ ปิดประเทศ เพื่อควบคุมโรคระบาด และมาตรการอาจถูกผ่อนคลายได้ จนถึงขั้นเปิดประเทศอีกครั้ง ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่กลับมาเดินทางเหมือนเดิม เนื่องจากการแพร่ระบาดขยายวงกว้างไปทั่วโลก จนทำให้นักท่องเที่ยวอาจลดความเสี่ยงด้วยการไม่เดินทาง และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยก็จะทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่ตัดสินใจเดินทางก็จะน้อยลง
เป็นที่มาของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งปี อยู่ที่ 10.2 ล้านคน จากปีที่ผ่านมา 39.8 ล้านคน หายไป 29.6 ล้านคน ติดลบไป 74.3% และนี่คือกรณีฐาน หากเราไปดูกรณีเลวร้าย ไตรมาส 3 ยังไม่ฟื้น ไปฟื้นไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจะหายไป 31.3 ล้านคน เหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งปี 8.5 ล้านคน

นักท่องเที่ยวที่หายไป กระทบโดยตรง ด่านหน้าคือ ธุรกิจการบิน ที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าไทย ล่าสุด แม้จะยังไม่มีการประเมินผลกระทบธุรกิจนี้ออกมาชัดเจน ทีมงานเศรษฐกิจ Insight จึงให้ดูศักยภาพธุรกิจการบินของไทย ปี 2562 ก่อน ว่าใช้บุคลากรราว 3 หมื่นคน สร้างเม็ดเงินมูลค่ากว่า 3.14 แสนล้านบาท เท่ากับว่า หารออกมา รายได้คนนึง ระดับ 10 ล้านบาท ต่อปี แต่ในปี 2563 มาตรการล็อคดาวน์ เมื่อมีการปิดประเทศ และด้านสารณะสุขแนะนำให้เดินทางน้อยที่สุด สายการบินจึงประกาศหยุดบินชั่วคราว เท่ากับรายได้เป็นศูนย์
เพราะไม่มีทางเลือก จะฝืนบินก็อาจเฉือนเนื้อตัวเองหนักขึ้นทุกวัน เพราะเสี่ยงที่จะบินเที่ยวเปล่า เนื่องจากไม่มีการเดินทางในปัจจุบัน ดังนั้น สายการบินต่างๆ จึงไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายเงินเดือนพนักงานยังคงเหมือนเดิมในบางส่วน และส่วนใหญ่ต้อง หยุดโดยไม่ได้รับเงินเดือน ดังนั้น 3 หมื่นคนในธุรกิจการบิน มีความเสี่ยงถูกปลดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เห็นบางสายการบินปลดพนักงานไปบ้างแล้ว จึงเป็นคำถามว่า 1 พ.ค.นี้ ที่หลายสายการบินประกาศว่าจะกลับมาบินอีกครั้ง จะได้ทยานฟ้าหรือไม่
วิกฤตนี้ อาจรุนแรงจนล้มสายการบินแห่งชาติของไทย เพราะการบินไทย ปัจจุบันมีสภาพคล่องพอที่จะจ่ายเงินเดือนเพียงเดือนนี้ เท่านั้น และต้องการกู้เงินขั้นต่ำ 5 หมื่นล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ค้ำประกัน ขณะที่หนี้กว่า 2.4 แสนล้านบาท เป็นอุปสรรค ขัดขวางการก็ครั้งนี้ ถึงขนาดพูดคุยเรื่องการขายการบินไทย ให้กับภาคเอกชน ที่มีความพร้อม กู้วิกฤตครั้งนี้ ไม่ให้สายการบินแห่งชาติ ต้องล้มลงไปอย่างถาวร

ขณะที่ 8 สายการบินชั้นประหยัดของไทย ถึงขั้นทวงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือ ซอฟท์โลน กับกระทรวงการคลัง วงเงินรวมที่ขอ 24,150 ล้านบาท ประกอบไปด้วย บางกอกแอร์เวย์ 3,000 ล้านบาท ,ไทยแอร์เอเชีย 4,500 ล้านบาท ,ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ 3,000 ล้านบาท ,ไทยไลอ้อนแอร์ 3,750 ล้านบาท ไทยเวียตเจ็ท 900 ล้านบาท ไทยสมายล์ 1,500 ล้านบาท ,นกสกู๊ต 3,500 ล้านบาท และนกแอร์ 4,000 ล้านบาท
โดยขอให้คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ตามวงเงินซอฟท์โลนของรัฐบาล เป็นระยะเวลา 60 เดือน เริ่มชำระทั้งต้นและดอก 1 มกราคม 2564 และขอเบิกงวดแรก ร้อยละ 25 ภายในเดือนเมษายน เพื่อการรักษาการจ้างงานสำหรับพนักงานแต่ละสายการบินได้อย่างทันท่วงที นั้นหมายความว่า โลวคอส ตอนนี้มีปัญหาสภาพคล่องกันทั่วหน้า

ไม่เพียงธุรกิจการบิน ต้องบอกว่า ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว มากมายเหลือเกิน หลายธุรกิจปรับตัวรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวหายจึงส่งผลกระทบ รุนแรง หอการค้าจึง สรุปผล กระทบมากกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือ ราว 20% ของGDP ไทย ที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท นำโดย ธุรกิจภัตตาคาร และโรงแรม กระทบกว่า 7.3 แสนล้านบาท รองมาคือ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ต้องยอมรับว่า ธุรกิจนี้หันมาพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ธุรกิจนี้กระทบไม่น้อย 4.8 แสนล้านบาท ตามมาด้วยภาคการบริการ บริษัททัวร์ต่างๆ สปา เป็นอันดับ 3 กระทบ 3 แสนกว่าล้านบาท และยังมีการขนส่ง สื่อสาร การผลิตอาหาร การทำเหมืองแร่ ไฟฟ้า ประปา การเพาะปลูกพืช ผลไม้ต่างๆ รวมถึง การกลั่นน้ำมันปิโตเลียม เหล่านี้ ต่างชาติเข้ามาเที่ยว และใช้บริการทั้งหมด ได้รับผลกระทบทั้งหมด
แน่นอนว่า เมื่อกระทบภาคการผลิต คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ละธุรกิจที่ไม่ต้องใช้กำลังการผลิตเหล่านี้ เสี่ยงที่จะตกงาน สูงถึงเฉียด 6 ล้านคน ไล่เรียงมา จำนวนแรงงานที่มีความเสี่ยง สอดคล้องกับมูลค่า นำโดยอันดับ 1 ธุรกิจภัตตาคารและโรงแรมสูงสุด 2.2 ล้านราย แต่อันดับ 2 คือ การเพาะปลูกพืช แม้มูลค่าการผลิตหาย 1.3 แสนล้านบาท แต่กระทบกับแรงงานสูงถึง 1.4 ล้านราย อันดับ 3 คือ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก กระทบกว่า 1 ล้านราย และภาคบริการ 6 แสนกว่าราย ที่สำคัญหอการค้ายังประเมิน หากสถานการณ์ลากยาวไปอีก 2 เดือน หรือ เดือน 6 ยังไม่คลี่คลาย อาจมีคนตกงานถึง 10 ล้านคน
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Insight ว่า รัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ตามข้อเรียกร้อง เพราะต้องยอมรับว่า ท่องเที่ยว เป็นธุรกิจแรกที่ถูกปิด รัฐบาลจึงต้อง หยุดหนี้ ทั้งต้นและดอกเบี้ย หยุดภาระ ค่าไฟ ภาษีทุกชนิด และหยุดให้จ่ายเงินประกันสังคม และสุดท้าย เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ผ่านวงเงินซอฟท์โลน ซึ่งดูเหมือนมีมาตรการ แต่รัฐบาลยังช้าในทางปฎิบัติ ต้องดูว่าจะออกมาได้ทันเดือนนี้หรือไม่ หากไม่ทัน เสี่ยงว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวกว่า 30% จะไม่ได้กลับมาเปิดกิจการ จาก5-6 หมื่นราย อาจหายไปมากกว่า 15,000 ราย และแน่นอนแรงงานด้านการท่องเที่ยวโดยตรงจะตกงานถาวรกว่า 1.2 ล้านราย
ไม่เพียงเท่านั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังประเมินต่อว่า การท่องเที่ยวพัง แล้ว ส่งผลไปยังการบริโภคภาคเอกชน อาจเกิดผลการตัดสินใจลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก สูงถึง 10 ล้านล้านบาท เป็นที่มาการปรับ GDP อีกครั้ง ถ้าจำกันได้ มกราคม 2563 หอการค้าไทย ประมาณการณ์เศรษฐกิจเอาไว้ 2.8% และปรับอีกครั้งเป็น -1.1% เดือนมีนาคม
ล่าสุด ประมาณการณ์ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบไม่มี พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท GDP ไปอยู่ที่ -8.8% จะเห็นว่า เป็นตัวเลขติดลบสูงสุดในประวัติศาสตร์ของไทย สูงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 41 ที่ติดลบ 8% แต่เมื่อรัฐบาลออก พ.ร.ก.วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท มาแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบน้อยลง เป็น – 4.9% ถึง – 3.4%
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการผลักดันวงเงินออกมาหมุนเวียนในระบบ เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังหลับใหล ไม่ให้เป็นโรคไหลตายไปก่อน ที่สำคัญอีกประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ การรับมือ ป้องกันการแพร่ระบาด มากน้อยแค่ไหน เพราะแนวคิด ไทยเที่ยวไทย ใช้ของไทย ยังคงรอขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เงินหมุนเวียนในระบบอยู่ แต่เมื่อทุกอย่างต้องปิดตาย แนวคิดนี้ก็ใช้ไม่ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และคนไทยทุกคนที่ยังคงต้องช่วยกันรับมือ
ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน
ท่องเที่ยวยังทรุดหนัก วูบ 3 ล้านล้านบาท