แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2568 หลังจากยอดการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณเกินกว่าเป้าหมายเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
สรุปข่าว
โดยรายได้หลักที่จัดเก็บได้เพิ่ม คือ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ขณะที่รายได้จาก 3 กรมจัดเก็บหลักยังต่ำกว่าเป้าหมาย
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายการใช้กำแพงภาษีเพื่อตอบโต้ประเทศที่เกินดุลการค้าของสหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนจีดีพีในปีนี้
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนในประเทศก็ชะลอการลงทุน เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อที่จะเข้ามากระทบกับภาคธุรกิจ
โดยกระทรวงการคลังกำลังเร่งประเมินว่าจำเป็น หรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องใช้เงินกู้เพิ่มเติม เพื่อนำมารองรับกรณีที่จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยระดับการขาดดุลงบประมาณที่ 865,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 นั้น แม้จะเป็นวงเงินที่สูง แต่ก็มีแผนการใช้จ่ายรองรับไว้หมดแล้ว หากมีการใช้จ่ายเพิ่ม ก็จำเป็นต้องใช้เงินกู้ เพราะประเมินรายรับไม่เข้าเป้า
นอกจากนี้ ยังต้องประเมินระดับหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นไปชนเพดานการก่อหนี้ตามกรอบวินัยการเงินการคลังด้วย โดยขณะนี้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 64 ขณะที่ กรอบเพดานการก่อหนี้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 70 ของจีดีพี
ด้านนายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.จะแถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจแรกที่จะมีการคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
จาก 2 ปัจจัยลบสำคัญ คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวตึกถล่ม และการประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ
สำหรับปัจจัยลบทั้งสองอย่างเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแง่ของความเชื่อมั่น ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยวและการส่งออก
โดย สศค. ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับทางสหรัฐ
ที่มาข้อมูล : กระทรวงการคลัง
ที่มารูปภาพ : TNN