“เศรษฐกิจซอง” ตัวการทำขยะพลาสติกล้นฟิลิปปินส์

การใช้พลาสติกอย่างแพร่หลายในฟิลิปปินส์เกิดจากหลายปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการขยะ ทำให้เกิดคำนิยามที่ว่าเป็นประเทศเ “ศรษฐกิจแบบซอง” หรือ Sachet economy ซึ่งเป็นแนวทางการบริโภคที่แพร่หลายในฟิลิปปินส์ โดยผู้บริโภคจะซื้อสินค้าในปริมาณเล็กน้อยที่บรรจุในซองพลาสติกขนาดเล็กหรือบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเช่นสบู่ แชมพู กาแฟ นมผง หรือเครื่องสำอาง ซึ่งแนวทางนี้มักได้รับความนิยมในหมู่ประชากรที่มีรายได้น้อย เนื่องจากสามารถเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะประชากรจำนวนมากในฟิลิปปินส์มีรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยเพียง 383 บาทต่อวัน และการซื้อสินค้าในปริมาณมาก เช่น แชมพู น้ำยาซักผ้า หรืออาหารแห้ง อาจเป็นภาระทางการเงินสำหรับครัวเรือนที่ต้องบริหารงบประมาณอย่างจำกัด และซองพลาสติกขนาดเล็กยังช่วยให้ครัวเรือนสามารถซื้อสินค้าตามปริมาณที่ต้องการในแต่ละวัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บรักษาหรือหมดอายุ

สรุปข่าว

ปัญหานี้ก็นับว่าสะท้อนถึงความท้าทายระหว่างความจำเป็นทางเศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อหาจุดสมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเศรษฐกิจแบบซองนั้น มีมากมาย ทั้งปัญหามลพิษทางน้ำ ที่เกิดจากซองพลาสติกจำนวนมากที่ถูกทิ้งหรือปล่อยลงในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดการปนเปื้อนและเป็นขยะ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ทั้ง เต่า ปลาหรือนกที่ระยะหลังมักกินพลาสติกเข้าไปเพราะความเข้าใจผิด นอกจากนี้ยังสร้างมลพิษทางอากาศ เพราะซองพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้งไปในหลุมฝังกลบ ซึ่งเมื่อถูกเผาจะปล่อยสารพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงยังมีส่วนทำให้พื้นดินไม่สามารถดูดซึมน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและลดความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย ที่สำคัญยังกระทบแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้ความสวยงามลดลง

และจากข้อมูลพบว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เฉลี่ย 356,371 เมตริกตันต่อปี ตามมาด้วย อินเดีย มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซียตามลำดับ ส่วนประเทศไทยนั้น ติดอันดับ 10 โดยปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเฉลี่ยปีละ 22,806 เมตริกตัน ซึ่งจะเห็นว่าส่วนมากนั้นเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชียแทบทั้งสิ้น เป็นเพราะระบบจัดการขยะของหลายประเทศยังขาดประสิทธิภาพและไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างเข้มงวด ทำให้ขยะจำนวนมากถูกพัดพาลงสู่ทะเลนั่นเอง

ที่มาข้อมูล : Reuters

ที่มารูปภาพ : TNN EARTH