

สรุปข่าว
เปิดวิธีป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด "ภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย" ถ้าป่วยแล้วรักษาอย่างไร?
โรคสมองเสื่อม หรือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นความผิดปกติของสมองที่เริ่มลดประสิทธิภาพการทำงานลงเรื่อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเราอาจเคยได้ยินมาว่า โรคนี้เป็นโรคของผู้สูงอายุ คือมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือยิ่งชรายิ่งมีโอกาสเป็นสูงขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน เราพบผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในผู้ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ คือพบได้มากขึ้นในผู้มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือยังอยู่ในวัยทำงาน โดยพบมากถึง 7% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด
วิธีป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัย
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เซลล์สมองเสื่อมเร็วขึ้น
-ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุ สมองถูกกระแทก เช่น ระวังการหกล้ม
-ลดความเครียดและระวังภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยอาจหากิจกรรมต่าง ๆ ทําเพื่อคลายเครียด เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หางานอดิเรกที่ชอบทำ
-ลดอาหารจำพวกไขมันมาก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพราะอาหารที่มีไขมันนี้ จะไปอุดกั้นผนังหลอดเลือด นำไปสู่การไหลของเลือดที่ไม่ปกติ ทำให้แรงดันสูงขึ้น หรืออาจเกิดเป็นก้อนเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดในสมองได้
-ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
-นอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
-ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง
-ตรวจสุขภาพประจําปี หากมีโรคประจําตัว ต้องติดตามการรักษา กินยาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท, รักษาระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น จะต้องอาศัยอาการอื่นๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้นประกอบการวินิจฉัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัว ต้องใช้การสังเกตโดยคนรอบข้าง สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่ากำลังเผชิญภาวะสมองเสื่อมอยู่หรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบและวินิจฉัย ซึ่งมีวิธีการตรวจหลายอย่างดังนี้
-ทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินภาวะสมองเสื่อม และแบบประเมินภาวะทางอารมณ์และจิตใจ
-ตรวจสมองด้วยเครื่องสแกนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง เนื้อสมองตายจากการขาดเลือดหรือเนื้องอกในสมอง
-เจาะน้ำไขสันหลังไปตรวจ ในกรณีสงสัยการติดเชื้อเช่น เอชไอวี ไวรัส หรือซิฟิลิส
-ตรวจวัดระดับวิตามินบี12 ในร่างกาย
-ตรวจความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์
การรักษาโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อย
จะเริ่มจากการรักษาสาเหตุของภาวะที่นำไปสู่ภาวะเซลล์สมองเสื่อมหรือตาย หากพบภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุขาดวิตามิน(B12) หรือจากปัญหาฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ แพทย์จะให้การรักษาโดยการให้วิตามินทดแทนหรือใช้ฮอร์โมนเสริม บางสาเหตุสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เช่น เนื้องอกในสมองบางชนิด ควบคุมโรคประจำตัวที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง หรือรักษาภาวะติดเชื้อ หากตรวจพบเชื้อจากน้ำไขสันหลัง
การรักษาด้วยยา มักพิจารณาให้สำหรับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของโรค เพื่อประคองระดับของอาการไม่ให้แย่ลงเร็ว หรือใช้วิธีการบำบัดทางจิตใจและพฤติกรรม โดยการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีการพูดคุย ร่วมกิจกรรม หรือเข้าร่วมกลุ่มบำบัด (Group therapy) เป็นการพาผู้ป่วยกลับเข้าสังคมอีกครั้ง บำบัดด้วยศิลปะ การฝึกสมาธิ การเล่นดนตรี
การลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบเช่น ควบคุมน้ำหนักเพื่อลดระดับความดันโลหิต ทานผักหลากชนิด ลดแป้ง ลดอาหาร fast food หรืออาหารที่มีไขมันทรานส์ ควบคุมโรคเบาหวาน รวมถึงงดสูบหรี่ ลดหรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ก็มีส่วนช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้
ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคสมองเสื่อมให้หายขาดได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา โดยเฉพาะภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคติดเชื้อเช่น HIV หรือซิฟิลิส หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจส่งผลให้อาการแย่ลงหรือเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในระบบอื่นๆ ของร่างกายซึ่งอาจเสียชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท / มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลสมิติเวช
ภาพจาก AFP
ที่มาข้อมูล : -