
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.09 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.40 บาท/ดอลลาร์

สรุปข่าว
นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.04-33.26 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์รีบาวด์สูงขึ้น ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรสถานะ Short USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งกดดันให้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง
อย่างไรก็ดี ปริมาณธุรกรรมในตลาดถือว่าน้อยลงจากช่วงปกติ เนื่องจากเป็นวันหยุด Easter ของตลาดการเงินยุโรป) ทั้งนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงขึ้น
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการแทรกแซงการทำงานของเฟด โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ล่าสุดแสดงความต้องการให้เฟดลดดอกเบี้ย ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด ดิ่งลง -2.36%
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่การดำเนินงานของเฟด อาจถูกแทรกแซงจากการเมืองสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดล่าสุด ยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาส 73% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปีนี้ ส่วน ECB มีโอกาสราว 55% ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในปีนี้
นอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ อย่าง Tesla (รับรู้รายงานผลประกอบการช่วง After Close)
แนวโน้มของค่าเงินบาท
ประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม และมีแนวโน้มแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up หลังเงินดอลลาร์มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นมาบ้าง ตามการปรับสถานะ Short USD ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม หากราคาทองคำเผชิญแรงขายมากขึ้น หลังทำจุดสูงสุดใหม่ โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off0 ทำให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการเพิ่มสภาพคล่องและเลือกที่จะขายทำกำไรทองคำออกมาได้ คล้ายกับช่วงตลาดปั่นป่วนจากความกังวลมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
ซึ่งราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงพอสมควร พร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลก นอกจากนี้ เรามีความกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ราคาทองคำ กับเงินบาทอาจเปลี่ยนแปลงไป จากพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาด เพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มไล่ราคาซื้อทองคำ อาจจะด้วยสาเหตุที่ทยอยขายทำกำไรไปช่วงก่อนหน้าแล้ว กอปรกับความกังวลว่าราคาทองคำอาจพุ่งสูงขึ้นต่อ (Fear of Missing Out: FOMO) ก็อาจทำให้ ในจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมไล่ราคาซื้อทองคำ (ซึ่งจะต่างจากที่ปกติ ผู้เล่นในตลาด มักจะรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลง ในการทยอยเข้าซื้อ หรือ เน้น Buy on Dip)
ที่มาข้อมูล : IQ
ที่มารูปภาพ : Getty Images