ครม.เคาะกู้กว่า 1.6 หมื่นล้าน หนุนอีอีซีโต

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบโดยให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB วงเงิน 68.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,440.19 ล้านบาท เพื่อใช้ใน “โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ซึ่งครอบคลุมการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ไปยังสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพิ่มศักยภาพการขนส่งในภูมิภาค EEC เดิมมีกรอบวงเงินรวม 4,508 ล้านบาท แต่ภายหลังมีการปรับแบบ ลดวงเงินโครงการเหลือ 3,092.90 ล้านบาท โดยวงเงินกู้จาก ADB คิดเป็นประมาณร้อยละ 78.90 ของวงเงินทั้งหมด ที่เหลืออีก ร้อยละ 21.10 จะใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมทางหลวง



สรุปข่าว

ครม. อนุมัติกระทรวงการคลังกู้เงินกว่า 16,000 ล้านจาก ADB และ AIIB เพื่อพัฒนาโครงข่ายทางหลวง และสนามบินอู่ตะเภา หนุนการเติบโตเขต EEC

ทั้งนี้ โครงการมีกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2572 โดย ADB อนุญาตให้เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าได้ และจะเริ่มเบิกจ่ายทันทีเมื่อสัญญาเงินกู้มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) วงเงิน 423.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 13,891.75 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) 


โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกองทัพเรือ (ทร.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กำกับและติดตามแผนการบูรณาการในภาพรวมและการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ สอดคล้องตามเงื่อนไขของ PPP

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN

แท็กบทความ

เศรษฐกิจ Insight
เอดีบี
กู้เงิน
สนามบินอู่ตะเภา
AIIB
อีอีซี