
ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุุดสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากเป้าหมายเงินที่ระดับ 2 %
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธ (12 กุมภาพันธ์ 2568 ) โดยกล่าวว่า ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า แม้เฟดมีความคืบหน้าในการทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่เฟดก็ยังต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
"ผมอาจพูดได้ว่าเราใกล้จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ขณะนี้เรายังไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น" พาวเวลกล่าวกับคณะกรรมาธิการฯ และกล่าวเสริมอีกว่า
"เมื่อปีที่แล้ว เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.6% ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมาก แต่เราก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบคุมเข้มต่อไปในขณะนี้"
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2568 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค มีการปรับตัวสูงขึ้นเกินคาดการณ์
ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.9% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.9% ในเดือนธันวาคม 2567 และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม 2568 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.4% ในเดือนธันวาคม 2567
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.2% ในเดือนธันวาคม 2567 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคม 2568 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.2% ในเดือนธันวาคม 2567

สรุปข่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเป็นวงกว้าง ปรับลดภาษี และใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเข้าเมือง ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่ามาตรการเหล่านี้จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมขึ้นสู่ระดับ 25% ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และยังขู่ว่าจะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี พาวเวลกล่าวว่า เฟดไม่มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ที่ออกโดยสภาคองเกรสหรือรัฐบาล แต่มีความเป็นไปได้ที่นโยบายใหม่เหล่านี้อาจทำให้เฟดต้องรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย พร้อมระบุด้วยว่า
"เศรษฐกิจพื้นฐานมีความแข็งแกร่งมาก แต่ก็มีความไม่แน่นอนบางอย่างเกี่ยวกับนโยบายใหม่"
"เราจะต้องรอดูว่านโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไร ก่อนที่เราจะคิดว่าเราควรจะดำเนินการอะไรบ้าง"
ที่มาข้อมูล : Fed Bloomberg
ที่มารูปภาพ : Creg Hudson @Reuters