"พิชัย" เร่งแก้หนี้ เพิ่มกำลังซื้อ มั่นใจเจรจา "ภาษีสหรัฐฯ" จบสวย หนุนต่างชาติใช้ที่ดิน 99 ปี ด้าน "เกรียงไกร" พร้อมหนุนนโยบายการค้าการลงทุน

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน "Mission Thailand ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมบนเวที ซึ่งมีการกล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเน้นไปยังโครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีปัญหา ทั้งการแก้หนี้ครัวเรือน การเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงการกำหนดแนวทางในการเจรจา "ภาษีสหรัฐฯ" รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
สรุปข่าว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน "Mission Thailand ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมบนเวที ซึ่งมีการกล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเน้นไปยังโครงสร้างของเศรษฐกิจที่มีปัญหา ทั้งการแก้หนี้ครัวเรือน การเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงการกำหนดแนวทางในการเจรจา "ภาษีสหรัฐฯ" รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ
รัฐบาลเร่งแก้หนี้ครัวเรือน เอกชนประสานเสียงช่วยเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการบริโภค
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ด้วยการเร่งเคลียร์หนี้ครัวเรือนสะสมที่มีอยู่กว่า 16.4 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถลดจำนวนหนี้ครัวเรือนให้เหลือเพียง 13 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 3 เดือน โดยจะเน้นแก้ปัญหาในกลุ่มหนี้ที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ NPL ซึ่งมีอยู่ราว 1.19 ล้านล้านบาท ของครัวเรือน 5.4 ล้านคนที่ติดอยู่ในระบบ ซึ่ง 65% ของ 5.4 ล้านคนนั้นเป็นหนี้ที่ต่ำกว่า 1 แสนบาท และไม่มีหลักประกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้หนี้ครัวเรือนได้เกือบ 1 ล้านราย และจะเดินหน้าแก้หนี้ในกลุ่มนี้ทั้ง 3 ล้านกว่าราย ซึ่งจะมีมาตรการในการปลดล็อคในเรื่องของเครดิตบูโรให้ด้วย รวมถึงการจัดหาซอฟต์โลน ในการการหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มที่เหลืออีกด้วย
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งก็จะส่งผลบวกต่อภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญภายหลังจาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.00% เหลือเพียง 1.75% ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ และยังทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจลดลง สามารถกระตุ้นการลงทุนได้
มั่นใจรัฐบาลสอบผ่าน เจรจา "ภาษีสหรัฐฯ" เอกชนแนะประเมินผลกระทบผู้ประกอบการไทย พร้อมสนับสนุนนโยบายการลงทุน
นายเกรียงไกรได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการขึ้นภาษีศุลการกรตอบโต้จากสหรัฐฯ ที่ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ว่าอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไทยในอนาคต แต่เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการเกินดุลการค้าของไทยที่มีต่อสหรัฐฯจะพบว่ามี 3 องค์ประกอบหลัก ๆ ประกอบไปด้วยการส่งออกจากธุรกิจต่างชาติรวมถึงสหรัฐฯเองที่เข้ามาใช้ฐานการผลิตในไทย ธุรกิจที่ร่วมลงทุนระหว่างไทยกับต่างชาติ และสินค้าสวมสิทธิที่เป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการไทย ที่อาจจะมีสินค้าจำนวนมากจากจีนไหลเข้ามายังประเทศไทย โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวตามนโยบาย
ขณะที่นายพิชัยกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการเจรจาเรื่องภาษีสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลมีการกำหนดแนวทาง และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ก่อนจะถึงกำหนดการเจรจาระหว่างไทยกัยสหรัฐ โดยแนวทางหลัก ๆ ในการเจรจาครั้งนี้คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเกษตร การบริหารจัดการภาษีศุลกากรให้เท่าเทียมกัน ปรับปรุงขั้นตอน และกระบวนการทางภาษี การควบคุมสินค้าสวมสิทธิ และการไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางการเจรจาที่สามารถทำให้ทางสหรัฐฯพอใจ และไทยไม่เสียเปรียบ รวมถึงประเมินว่าหลังจากการเจรจาตัวเลขอัตราภาษีที่ถูกเรียกเก็บจะไม่ใช่ 36% อย่างแน่นอน เพราะจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในสหรัฐฯเอง
ยืนยันนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเพิ่ม ไม่กระทบอุตสาหกรรมไทย เอกชนพร้อมเตรียมกำลังการผลิตรองรับ
นายพิชัยกล่าวถึงประเด็นการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มเติมว่า จะไม่กระทบกับอุตสาหกรรมไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าเฉพาะสินค้าที่เรามีการนำเข้าเป็นปกติอยู่แล้ว โดยจะใช้วิธีการย้ายแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มายังสหรัฐฯ ซึ่งก็จะพิจารณาปัจจัยในเรื่องของราคาประกอบด้วย โดยจะต้องเป็นราคาที่แข่่งขันได้ ไม่สูงกว่าต้นทุนการนำเข้าจากประเทศอื่น เช่นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่ไทยมีการนำเข้าอยู่แล้ว โดยมีการเจรจา และตกลงที่จะนำเข้า LNG จากสหรัฐ 1 ล้านตัน และสามารถขยายคำสั่งซื้อได้เป็น 2.2 ล้านตัน ภายใน 5 ปี หรือการนำเข้าข้าวโพดเพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งประเทศไทยก็มีศักยภาพสูง สามารถที่จะรองรับตลาดส่งออกได้ทั่วโลก
ด้านนายเกรียงไกรกล่าวสนับสนุนถึงการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯว่า ถ้ามีทศทางที่ดี และผลการเจรจาเป็นบวกกับประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลดการผลิตเพื่อส่งออกลง แต่ยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนจากสหรัฐฯ และนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกเพิ่มมูลค่าสินค้า และมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้นได้ ซึ่งในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น อาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ยังมีกำลังการผลิตที่เหลือพอพร้อมรองรับการผลิตที่สูงขึ้นได้ในอนาคต
เตรียมแผนเพิ่มรายได้เกษตกร ด้านเอกชนแนะลดต้นทุนโลจิสติกส์
นายเกรียงไกรระบุถึงต้นทุนทางธุรกิจโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่ง โดยอยากให้รัฐบาลบริหารจัดการในหลาย ๆ ด้านเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การลดต้นทุนการขนส่ง เป็นต้น รวมถึงความสำคัญของการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นการบริโภคขนาดใหญ่ เนื่องจากเกษตรกรมีอยู๋ประมาณ 27 ล้านคน จะสามารถสร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจทั้งระบบได้
โดยนายพิชัยกล่าวถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่ามีแผนที่จะปรับโครงสร้างเกษตกรรม และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตกร เช่นการจัดโซนนิ่งในการเพาะปลูก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนที่สูงเมื่อเทียบกับราคาส่งออก เช่น ข้าวบางสายพันธุ์ ที่ต้นทุนสูงพอ ๆ กับราคาขาย ก็อาจจะต้องลดการเพาะปลูกลง และเปลี่ยนเป็นการเพาะปลูกสินค้าเกษตรชนิดอื่น ที่มีศักยภาพ ราคาสูงกว่า มีความต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นราคาสินค้าเกษตรบางชนิด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรให้มีต้นทุนต่ำลง และมีรายได้สูงขึ้น จากผู้ขอรับการสนับสนุน เป็นผู้ทีมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
เอกชนหนุนรัฐฯสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ รัฐบาลหนุนให้สิทธิต่างชาติใช้ที่ดิน 99 ปี
นายเกรียงไกรระบุถึงความกังวลของเอกชนว่า อาจจะมีสินค้าจำนวนมากไหลมายังประเทศไทย จะผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยใน 24 อุตสาหกรรม รวมถึงกล่าวเพิ่มเติมถึงโอกาสของไทยในการที่จะกลายเป็นฐานการผลิตในอนาคตจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าไทยเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือทางการค้าที่ดีกับทั้งทางจีน และสหรัฐฯ โอกาสที่ต่างชาติจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุน หรือย้ายฐานผลิตมายังประเทศไทย ก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมไทยเองก็มีศักยภาพในการรองรับด้าห่วงโซ่อุปทานในหลากหลายอุตสาหกรรม
ขณะที่นายพิชัยกล่าวว่าประเด็นของสินค้าที่ไหลเข้ามาในไทยจำนวนมาก ทางรัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิดโดยมีมาตรการที่จะจำกัดสินค้าที่เป็น Old Technology ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย สนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยลงทุนในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น มีการตรวจโรงงาน และสินค้าป้องกันการสวมสิทธิ การปรับปรุง Local Content ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 40% การผลักดันให้ต่างชาติสามารถที่จะใช้สิทธิที่ดินได้ 99 ปี ของทั้งรัฐ และเอกชน โดยที่ดินของรัฐเมื่อครบสัญญา 99 ปีก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนที่ดินเอกชนเมื่อครบ 99 ปี ก็จะถูกโอนมาเป็นของรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะช่วยสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ก็จะได้ประโยชน์ รวมถึงการเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไข
ที่มาข้อมูล : TNN Dinner Talk 2025
ที่มารูปภาพ : TNN