

สรุปข่าว
ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา หลายคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของการทำงาน ครอบครัว ชีวิตส่วนตัว และความรัก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพใจ จนบั่นทอนสุขภาพกาย โดยเฉพาะคนวัยทำงาน ที่ต้องปรับตัวหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งบางส่วนยังคงทำงานต่อที่บ้าน หรือที่เรียกว่า (work from home ) ขณะที่บางส่วนต้องกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศตามปกติแล้ว การทำงานที่หนักและต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟ หรือมีอาการซึมเศร้าซ่อนเร้น ที่มักแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสำรวจภาวะสุขภาพจิต เพื่อให้การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเด็นสุขภาพของคนวัยทำงานในปี 2022 ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้…
“ภาวะซึมเศร้าซ้อนเร้น” ภัยร้ายคนวัยทำงาน
ซึมเศร้าซ่อนเร้น หรือ Masked Depression เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของโรคซึมเศร้า ที่ปรากกฎออกมาทางกาย ดังนั้น แม้มีการเจ็บป่วยดังกล่าวหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามีสาเหตุหลักมาจากซึมศร้า เพราะผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แถมยังมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง ทำให้ภายนอกดูไม่เหมือนกับมีปัญหาด้านสุขภาพจิต
อาการเจ็บป่วยทางกายที่พบได้บ่อยของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น ได้แก่ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้องหรือมีปัญหาทางเดินอาหาร เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทั่วท้อง รู้สึกปั่นป่วนในท้อง และเหนื่อยล้าง่ายๆ โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเมื่อไปพบแพทย์เพื่อสาเหตุ แต่ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ
ผู้ที่เข้าข่ายเป็นภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ดังนั้น คนกลุ่มนี้ควรมั่นสังเกตอาการของตัวเอง รวมทั้งคนรอบข้าง หากพบความผิดปกติ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อรับการประเมินความเสี่ยงของการมีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นได้
“Phone Phobia” โรคเครียดจากการต้องรับโทรศัพท์ คนทำงานเป็นเยอะ
Phone Phobia คือ กลุ่มอาการทางอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวลในการโทรศัพท์ ส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดหรือประหม่าที่ต้องโทรออกหรือรับสาย ทำให้มักจะหลีกเลี่ยงการโทร ในบางคนอาจมีความรู้สึกกังวลถึงสิ่งที่จะพูดหรือพูดไปแล้วด้วย
การสำรวจของพนักงานออฟฟิศในสหราชอาณาจักรในปี 2019 พบว่า 76 เปอร์เซนต์ ของคนรุ่นมิลเลนเนียล และ 40 เปอร์เซนต์ของเบบี้บูมเมอร์ มีความกังวลใจเมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น
และนั่นทำให้ 61 เปอร์เซนต์ของกลุ่มมิลเลนเนียลส์จึงหลีกเลี่ยงการโทรโดยสิ้นเชิง ขณะที่มีกลุ่มเบบี้บูมเมอร์อยู่ที่ 42 เปอร์ฌวนต์ที่หลีกเลี่ยงการพูดคุยผ่านโทรศัพท์
สำหรับที่มีความกังวลเกี่ยวกับโทรมากเกินไป อาจมีการแสดงออกทางร่างกายด้วย เช่น เกิดความรู้สึกคลื่นไส้ หายใจลำบาก เวียนศรีษะ กล้ามเนื้อตึง หรือหัวใจเต้นถี่ขึ้น
การรับมือกับโรคกลัวการโทรศัพท์ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงหรือใช้การพิมพ์ข้อความสนทนาแทน เพราะการพูดคุยผ่านตัวหนังสือทำให้ข้อความที่ต้องการสื่อสารคลาดเคลื่อน หรืออาจทำให้คู่สนทนารับสารได้ล่าช้า การแก้ไขควรเริ่มฝึกจากการเริ่มต้นบทสนทนาสั้นๆ และเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนต้องพูดคุยกับคู่สนทนา เช่นการเขียนสคริปต์ หรือเตรียมข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
…คนวัยทำงาน จึงควรหมั่นสำรวจและรู้เท่าทันปัญหาสุขภาพจิต พร้อมทั้งเรียนรู้การรับมือ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตการทำงานอย่างสนุกและมีความสุขมากขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำสำหรับการดูแลสุขภาพจิต ตัวอย่างเช่น
การทำ Micro-breaks ช่วยดูแลสุขภาพจิตของคนทำงาน
Micro-breaks คือ นิยามของการหยุดพักในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วมาทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับงาน หรือเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบ เพื่อให้สมองได้มีเวลาหยุดพัก เชื่อว่า จะช่วยทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นกว่าการนั่งอยู่หน้าจอตลอดเวลา ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตของชาวออฟฟิศได้
หนึ่งในสูตรการบริหารจัดการเวลาที่นิยมใช้กัน มีชื่อว่า pomodoro technique ซึ่งแนะนำให้แบ่งช่วงเวลาการทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที โดยช่วงเวลาพักอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าลุกขึ้นออกจาหน้าจอคอมและพักสายตา หรืออาจจะใช้เวลาไปชงกาแฟ รดน้ำต้นไม้ และดูคลิปสั้นๆ เป็นวิธีช่วยลดความเหนื่อยล้า ในกรณีที่ต้องทำงานที่ใช้การจดจ่อมาก
อีกทางเลือกคือสูตร 52ต่อ17 หมายถึง ทำงานต่อเนื่อง 52 นาทีและพัก 17 นาที สลับกันไปทั้งวัน โดยมาจากการศึกษาที่ชี้ว่า ช่วงเวลา 52 นาที คือระยะเวลาที่สมองของคนเราสามารถโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดีที่สุด
"สุนัขบำบัด" ดูแลจิตใจ ลดความเครียด เยียวยาภาวะซึมเศร้า
“สุนัขบำบัด” (Dog therapy หรือ Canine assisted therapy) คือการนำสุนัขเข้ามาช่วยในกระบวนการบำบัด สภาวะร่างกายและจิตใจ นำไปใช้ได้ได้หลายที่ เช่น บ้าน โรงพยาบาล ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ บ้านพักผู้สูงอายุ โรงเรียน เป็นต้น
การบำบัดทางร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยหลักการทั่วไปของกายภาพบำบัด จำเป็นต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อ ซึ่งการมีสุนัขร่วมทำกิจกรรมด้วย จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และสามารถออกกำลังได้นานขึ้น สุนัขสามารถเข้ามาช่วยให้มีการขยับแขนหรือขาเพิ่มขึ้น โดยการโยนของไปแล้วให้สุนัขวิ่งไปคาบกลับมา การลูบคลำ หรือการแปรงขนสุนัขก็เป็นการออกกำลังกายแขนอย่างหนึ่ง
การบำบัดทางจิตใจ โดยการนำสุนัขไปแสดงโชว์ความน่ารักให้ผู้สูงอายุหรือเด็กดู เพื่อช่วยให้คลายความเหงาลงได้ การเลี้ยงสุนัขยังช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถจัดเป็นโปรแกรมการบำบัดโดยตรง โดยมีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีต่อตนเอง และคนรอบข้าง ให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น
ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ช่วยให้สุขภาพจิตคนทำง่ายดีขึ้นได้
ผลวิจัยชี้ ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สุขภาพดีขึ้น โดยงานวิจัยขนาดใหญ่ชิ้นนี้มีบริษัทมากกว่า 33 แห่งจากทั่วโลกเข้าร่วม รวมพนักงานมากกว่า 1,000 คนได้รับอนุญาตจากเจ้านายให้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยที่ยังไดเงินเดือนเท่าเดิม แม้เวลาการทำงานจะลดลงเหลือเพียง 80 เปอร์เซนต์จากที่เคยทำได้ ซึ่งผลจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ชี้ว่า น่าประหลาดใจที่พนักงานยังคงอุทิศตัวทำงานให้บริษัทอย่างเต็มที่ และได้ผลลัพธ์ของงานเท่าเดิม แม้เวลาการทำงานจะน้อยลง
จุดประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อพิสูจน์ว่าการลดชั่วโมงทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่พนักงาน
หมดไฟในงานทำงานต้องดูแลตัวเองอย่างไร
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือ ภาวะที่เกิดจากความเครียดสะสมเป็นเวลานานจนทำให้มีความอ่อนล้า อ่อนเพลีย ขาดความสุขในการทำงานรวมไปถึงขาดประสิทธิภาพในการทำงาน บางรายอาจส่งผลไปถึงเรื่องชีวิตประจำวัน รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ขาดแรงจูงใจ รู้สึกเบื่อหน่ายสภาพแวดล้อมรอบตัว ซึ่งหากใครที่มีอาการในลักษณะนี้ก็ยังถือว่าไม่รุนแรงมาก แต่หากปล่อยไว้นานโดยที่เรายังอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ อาการเหล่านี้ก็อาจจะรุนแรงขึ้นและสามารถพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
5 วิธีดูแลตนเอง เมื่อเผชิญภาวะหมดไฟในการทำงาน
1. ลดความเครียด
พยายามลดความเครียดให้ได้ เราควรปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเปิดให้โอกาสให้ตัวเองได้เจอกับสิ่งแปลกใหม่ เช่น ลองรับประทานอาหารที่รสชาติแปลกใหม่ ลองเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปทำงาน แบบนี้ก็จะช่วยลดความเบื่อหน่ายที่ตนเองต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
เราควรจะต้องหาเวลาพักผ่อน ทั้งการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและการผ่อนคลายตัวเองจากความเครียด โดยเราอาจจะออกไปเที่ยวพักผ่อน หรือหากิจกรรมที่ชอบ หรือแม้แต่การออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้
3. ระบายให้ใครฟัง
การระบายความเครียดออกมาด้วยการพูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดสะสมได้ ซึ่งหลายครั้งเมื่อเราได้เล่าเรื่องที่กำลังกลุ้มใจให้ใครสักคนฟัง ก็เป็นเหมือนกับการได้ระบายความทุกข์ที่อึดอัดในใจให้ออกไป เมื่อระบายแล้วก็อาจจะช่วยเรียกพลังให้กลับคืนมาและทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้
4. ให้กำลังใจตัวเองเสมอ
กำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านภาวะนี้ไปได้ แต่นอกเหนือจากนั้นและสำคัญกว่าคือการหมั่นให้กำลังใจตัวเองค่ะ เพราะต่อให้เราจะไม่มีใคร แต่เราก็สามารถที่จะเสริมกำลังใจให้กับตัวเองได้อยู่เสมอโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสามารถช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้ เพราะการออกกำลังสามารถทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ซึ่งสามารถช่วยให้เรารู้สึกตื่นตัว รวมถึงการออกกำลังกายยังช่วยให้เรานอนหลับได้ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับได้อีกด้วย
ที่มาข้อมูล : -