กลเม็ดวางแผนการเงินสำหรับนักชอปปิงออนไลน์

ในยุคดิจิทัลที่การชอปปิงออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน การควบคุมค่าใช้จ่ายกลับยากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความสะดวกสบายที่สามารถกดสั่งซื้อได้เพียงปลายนิ้ว ประกอบกับกลยุทธ์การตลาดที่ล่อตาล่อใจ ทำให้หลายคนเผลอใช้จ่ายเกินตัวโดยไม่รู้ตัว แต่ไม่ต้องกังวล หากมีเทคนิคการบริหารเงินที่ดีก็จะทำให้สนุกกับการชอปปิงและไม่กระทบต่อสุขภาพการเงิน

 

1.ศิลปะการตั้งงบประมาณสำหรับนักชอปปิงออนไลน์

  • เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของนักชอปปิงออนไลน์ คือ การไม่เข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเอง เพราะอาจไม่เคยคิดว่าการกดซื้อของออนไลน์ครั้งละไม่กี่ร้อยบาท จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อหยุดการก่อหนี้ ควรเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการทำสิ่งที่ง่าย ๆ คือ การจดบันทึกค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ โดยใช้วิธีการตั้งงบประมาณ 50-30-20 (50% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น, 30% สำหรับค่าใช้จ่ายที่อยากได้ รวมถึงการชอปปิงออนไลน์ และ 20% สำหรับการออมและการลงทุน)
  • การสร้างบัญชีชอปปิงแยกต่างหาก เปิดบัญชีออมทรัพย์ใหม่เพื่อชอปปิงโดยเฉพาะ โดยคำนวณงบชอปปิงต่อเดือนไว้ที่ 15% ของรายได้ (เช่น เงินเดือน 30,000 บาท แสดงว่ามีงบชอปปิง 4,500 บาท) จากนั้นก็จัดการบัญชีเริ่มจากทุกวันที่ได้รับเงินเดือนให้ตั้งระบบโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีหลักไปยังบัญชีชอปปิง และเมื่อเงินในบัญชีหมด จะไม่โอนเงินเพิ่มเด็ดขาด จนกว่าจะถึงเดือนถัดไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้รับ คือ ไม่มีการใช้จ่ายเกินงบอีกเลย มีเงินเหลือในบัญชีชอปปิงบ้างในบางเดือนก็นำไปเก็บออม ความเครียดเรื่องการเงินลดลง

 

2.กลยุทธ์การเปรียบเทียบราคาและการหาดีลสุดคุ้ม

เมื่อกดซื้อสินค้าไปแล้ว อาจรู้สึกเสียดาย เพราะวันรุ่งขึ้นเจอราคาถูกกว่า หรือเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเพื่อนถึงซื้อของชิ้นเดียวกันได้ถูกกว่า คำตอบคือ ไม่ได้เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ ดังนั้น ก่อนกดสั่งซื้อควรทำการเปรียบเทียบราคาและหาดีลเด็ด

  • รู้จังหวะ รู้ช่วงเวลา วางแผนการชอปปิงตามช่วงเวลาพิเศษ เช่น เทศกาลช้อปปิงออนไลน์ (11.11 หรือ 12.12) วัน ช่วงต้นเดือน (มักมีโปรโมชันพิเศษจากบัตรเครดิต) End of Season Sale (ช่วงปลายฤดูกาล ลดราคาสูงสุดถึง 70%) หรือ Flash Sale (มักจัดช่วง 12:00 น. และ 18:00 น.)
  • เครื่องมือเปรียบเทียบราคา ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรเปรียบเทียบราคาสินค้าจากหลายร้านค้าออนไลน์ ดูประวัติราคาย้อนหลัง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เช่น รับเงินคืนจากการชอปปิง
  • ใช้โค้ดส่วนลดอย่างคุ้มค่า เช่น สมัครรับจดหมายข่าว (ร้านค้ามักส่งโค้ดส่วนลดพิเศษให้สมาชิก) ติดตาม Social Media (แบรนด์มักแจกโค้ดลับผ่าน Facebook, Instagram) หรือรวมโค้ดกับโปรบัตรเครดิต อาจประหยัดได้เพิ่มอีกพอสมควร
  • โปรแกรมสะสมคะแนน เช่น แลกคะแนนเป็นเงินคืนหรือส่วนลดจากบัตรเครดิต แพลตฟอร์มชอปปิง หรือสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษจากร้านค้าออนไลน์

 

การรู้จักใช้กลยุทธ์เปรียบเทียบราคาและหาดีลที่คุ้มค่าจะช่วยให้ประหยัดเงินได้ โดยไม่ต้องรอเทศกาลลดราคาใหญ่ และเงินที่ประหยัดได้ สามารถนำไปต่อยอดการลงทุนหรือเก็บออมเพื่ออนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลเม็ดวางแผนการเงินสำหรับนักชอปปิงออนไลน์

สรุปข่าว

กลเม็ดวางแผนการเงินสำหรับนักชอปปิงออนไลน์ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

3.ป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว

หลายคนอาจตั้งใจจะซื้อเสื้อแค่ตัวเดียว แต่สุดท้ายกลับกดสั่งซื้อของติดระกร้ามาอีกหลายชิ้น เพราะเจอคำว่าโปรโมชันลด 50%, 1 แถม 1 หรือส่งฟรี เมื่อซื้อครบ 999 บาท ซึ่งเป็นกับดัก ที่นักชอปปิงออนไลน์ ดังนั้น ก่อนกดซื้อควรมีเกราะป้องกันตัวด้วย

  • กฎ 24 ชั่วโมง เมื่อเจอของที่อยากได้ให้บันทึกลิงก์ไว้ จากนั้นตั้งนาฬิกาปลุก 24 ชั่วโมง เพื่อให้เวลากับการถามตัวเองว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้จริง ๆ หรือไม่ มีของคล้าย ๆ กันอยู่แล้วกี่ชิ้น เงินนี้เอาไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่
  • ตั้งการแจ้งเตือนอัจฉริยะ ตั้งการแจ้งเตือนในแอปพลิเคชันหรือแอปพลิเคชันบัตรเครดิต เพื่อให้แจ้งเตือนทุกครั้งที่ใช้จ่ายเกินตามงบที่ตั้งเอาไว้ แจ้งเตือนเมื่อใช้จ่ายถึง 80% ของงบประมาณ และสรุปค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์

 

การชอปปิงออนไลน์เต็มไปด้วยกลยุทธ์การตลาดที่ล่อใจให้ใช้จ่าย การใช้เทคนิคป้องกันการใช้จ่ายเกินตัวจึงเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้หยุดคิดก่อนซื้อ เช่น การตั้งการแจ้งเตือนค่าใช้จ่ายช่วยให้ตระหนักถึงเงินที่หมดไป และการปิดการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันชอปปิง ช่วยลดแรงกระตุ้นให้ซื้อของที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ชอปปิงได้อย่างมีสติ ไม่เป็นหนี้ และมีเงินเหลือเก็บสำหรับอนาคต

 

4.เลือกวิธีจ่ายให้เหมาะสม

  • บัตรเครดิต

ข้อดี เรียกเงินคืนได้หากถูกโกง สะสมแต้มได้

ข้อควรระวัง ดอกเบี้ยสูง ล่อใจให้ใช้เกินตัว

เคล็ดลับ ใช้บัตรเครดิตใบเดียวสำหรับชอปปิงออนไลน์ กำหนดวงเงินต่ำ ๆ เพื่อจำกัดความเสียหายหากถูกแฮก

 

  • บัตรเดบิต

ข้อดี ใช้จ่ายตามเงินที่มี ไม่เป็นหนี้

ข้อควรระวัง เงินจะถูกตัดออกจากบัญชีทันที จึงต้องมีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

เคล็ดลับ เปิดบัญชีแยกสำหรับชอปปิง โอนเงินเข้าเฉพาะตอนจะใช้

 

  • สแกนจ่าย

ข้อดี สะดวก ปลอดภัย 

ข้อควรระวัง ต้องระวังการหลอกให้สแกน QR Code ปลอม

 

เคล็ดลับความปลอดภัยสำหรับนักชอปปิงออนไลน์ที่ควรรู้

รู้จักสังเกตเว็บไซต์ปลอดภัย ผ่าน URL

  • มีสัญลักษณ์กุญแจล็อกสีเขียว
  • URL ขึ้นต้นด้วย https:// (ไม่ใช่แค่ http://)
  • ชื่อเว็บไซต์สะกดถูกต้อง ไม่มีตัวอักษรแปลก ๆ

 

ไม่ควรบันทึกข้อมูลบัตร

  • ใช้ Password Manager เก็บข้อมูลบัตรแทน
  • กรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้ง

 

การแจ้งเตือน

  • เปิดแจ้งเตือนทุกยอดการใช้จ่าย
  • ตั้งค่าแจ้งเตือนทั้ง SMS และ Push Notification
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันธนาคารไว้ในมือถือ
  • ตั้งค่าแจ้งเตือนพิเศษสำหรับการใช้จ่ายต่างประเทศ

 

เคล็ดลับอื่น ๆ 

  • เปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน
  • ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะเวลาชอปปิง
  • ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสในอุปกรณ์ทุกเครื่อง

 

การชอปปิงออนไลน์ในปัจจุบันทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว หากไม่มีการวางแผนการเงินที่ดี อาจนำไปสู่ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวได้ แต่หากมีการใช้กลเม็ดวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแบ่งงบประมาณแบบ 50-30-20 การแยกบัญชีเฉพาะสำหรับชอปปิง การใช้แอปพลิเคชันติดตามค่าใช้จ่าย และการใช้กฎ 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจซื้อ จะช่วยให้ชอปปิงได้อย่างมีสติมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ การรู้จักเปรียบเทียบราคา จับจังหวะโปรโมชัน และเลือกวิธีการชำระเงินที่ปลอดภัย จะช่วยให้ได้ของที่ต้องการในราคาที่คุ้มค่า และไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกหลอกหรือข้อมูลรั่วไหล ที่สำคัญการวางแผนการเงินที่ดี ไม่ได้หมายถึงการงดชอปปิง แต่ คือ การรู้จักสร้างสมดุลระหว่างความสุขในการชอปปิงและสุขภาพทางการเงินที่ดี

 

ที่มาข้อมูล : สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ที่มารูปภาพ : freepik

แท็กบทความ

ช็อปปิ้งออนไลน์
การลงทุนลงทุนหุ้นกองทุนรวม
การวางแผนการเงิน